คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1612/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2522มาตรา 6 บัญญัติให้กิจการของการท่าอากาศยานไม่ตกอยู่ใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานอันเป็นกฎหมายคุ้มครองแรงงานและอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ.2522 มาตรา 49 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งหมาย จะให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างนอกเหนือจากที่มีอยู่แล้วตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายคุ้มครองแรงงานเมื่อคดีนี้ไม่มีข้อโต้แย้งว่าข้อบังคับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยกำหนดสิทธิของโจทก์ให้ได้รับความคุ้มครองแรงงานน้อยกว่าที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานบัญญัติไว้โจทก์ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานโดยโจทก์ไม่มีความผิด เป็นการไล่ออกอย่างไม่เป็นธรรม และไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและรับโจทก์กลับเข้าทำงาน
จำเลยให้การว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่ติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่าสามวันทำการอันเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงปลดโจทก์ออกจากงานตามข้อบังคับของจำเลยกิจของจำเลยไม่ต้องตกอยู่ใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2522
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และฟ้องว่าการปลดโจทก์ออกจากงานเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พุทธศักราช 2522 มาตรา 49 แต่พระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยพุทธศักราช 2522 มาตรา 6 บัญญัติให้กิจการของการท่าอากาศยานไม่ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ แต่พนักงานและลูกจ้างของการท่าอากาศยานต้องได้รับการคุ้มครองแรงงานไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้อาศัยสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งหมายจะให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างนอกเหนือจากที่มีอยู่แล้วตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ความในมาตรา 6 ที่ว่า พนักงานและลูกจ้างของการท่าอากาศยานต้องได้รับความคุ้มครองแรงงานไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงาน นั้น เป็นเพียงกำหนดสิทธิของลูกจ้างและพนักงานให้มีสิทธิต่าง ๆ ไม่น้อยกว่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน คดีนี้ไม่มีข้อโต้แย้งว่าข้อบังคับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยกำหนดสิทธิของโจทก์ให้ได้รับความคุ้มครองแรงงานน้อยกว่าที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานบัญญัติ ฟ้องโจทก์ทั้งสองประการอาศัยสิทธิของกฎหมายคุ้มครองแรงงานอันจำเลยได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
พิพากษายืน

Share