คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4730/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 10 บัญญัติให้ฝิ่นหรือมูลฝิ่นเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7 ดังนั้น การที่จำเลยมีฝิ่นดิบและมูลฝิ่นไว้ในความครอบครองจึงเป็นความผิดต่อบทกฎหมายมาตราเดียวกันตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดเพียงกรรมเดียว
ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยฐานมีฝิ่นดิบและมีมูลฝิ่นเป็น 2 กรรมเป็นการไม่ชอบ แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเสพฝิ่นมีฝิ่นดิบและมีมูลฝิ่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๗, ๕๘, ๖๙, ๙๑, ๑๐๒ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๓, ๔, ๖, ๑๐ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑ ริบของกลาง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ที่ให้การปฏิเสธโดยให้โจทก์ฟ้องเป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นดำเนินคดีต่อมาเฉพาะตัวจำเลยที่ ๒ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๗, ๕๘, ๖๙, ๙๑, ๑๐๒ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๓, ๔, ๖, ๑๐ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓, ๙๑ เรียงกระทงลงโทษฐานร่วมกันเสพฝิ่นจำคุก ๖ เดือนฐานร่วมกันมีฝิ่นดิบจำคุก ๓ ปีฐานร่วมกันมีมูลฝิ่นจำคุก ๓ ปีรวม ๖ ปี ๖ เดือนลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยที่ ๒ ไว้ ๓ ปี ๓ เดือนของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานมีฝิ่นดิบจำคุก ๖ เดือนฐานมีมูลฝิ่นจำคุก ๖ เดือนรวมจำคุก ๑ ปีจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่งจำคุก ๖ เดือนรวมกับความผิดฐานเสพฝิ่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคงจำคุก ๙ เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าปรากฏว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานมีฝิ่นดิบจำคุก ๖ เดือนและฐานมีมูลฝิ่นจำคุก ๖ เดือนนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายกล่าวคือความผิดฐานมีฝิ่นและมีมูลฝิ่นในคดีนี้ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งมาตรา ๑๐ ของพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติว่าในขณะที่ไม่มีประกาศให้ฝิ่นมูลฝิ่นหรือพันธุ์ฝิ่นเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทใดให้ฝิ่นหรือมูลฝิ่นตามกฎหมายว่าด้วยฝิ่นเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๒ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗ ดังนั้นการที่จำเลยมีฝิ่นดิบและมีมูลฝิ่นจึงเป็นความผิดต่อกฎหมายมาตราเดียวกันตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๙ วรรคหนึ่งจึงต้องลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานมีฝิ่นดิบและมูลฝิ่นเพียงกรรมเดียวที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ ๒ ทั้งฐานมีฝิ่นดิบและฐานมีมูลฝิ่นเป็น ๒ กรรมจึงไม่ชอบซึ่งแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๗, ๖๙ วรรคหนึ่งฐานมีฝิ่นดิบกับมูลฝิ่นจำคุก ๖ เดือนจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่งจำคุก ๓ เดือนเมื่อรวมกับความผิดฐานเสพฝิ่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คงจำคุก ๖ เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share