คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4712/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ได้ร่วมกับพวกอีกสองคนแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่เกี่ยวกับงานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อให้พวกของจำเลยซึ่งเป็นคนไม่มีสัญชาติไทยมีชื่อหรือมีรายการอย่างหนึ่งอย่างใดในทะเบียนบ้านโดยมิชอบ เป็นการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศชาติ พฤติการณ์แห่งคดีจึงร้ายแรง ไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 ได้ พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 50 วรรคสอง ระวางโทษหนักขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา 50 วรรคหนึ่งนั้นมุ่งหมายเฉพาะผู้ซึ่งกระทำผิดตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีสัญชาติไทยเมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ซึ่งมีสัญชาติไทย จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 50 วรรคสอง คงเป็นความผิดตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่กับพวกอีกสองคน ซึ่งมีคนหนึ่งเป็นคนไม่มีสัญชาติไทยได้ร่วมกันแจ้งให้นางลำดวน เวชรัตนะวัฒน์ เจ้าพนักงานปกครอง 5 และนายอำนวยภูหนองโอง เจ้าหน้าท่ปกครอง 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ผู้กระทำการตามหน้าที่มีหน้าที่เกี่ยวกับงานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนของที่ว่าการกิ่งอำเภอกุดรัง ในการรับแจ้งย้ายเข้าย้ายออก เพิ่มเติมชื่อบุคคลในทะเบียนบ้านในเขตกิ่งอำเภอกุดรัง จดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกเรื่องขอเพิ่มเติมชื่อเข้าในทะเบียนบ้าน อันเป็นเอกสารราชการของสำนักงานทะเบียนกิ่งอำเภอกุดรัง ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานในการขอเพิ่มชื่อบุคคลในทะเบียนบ้านว่านายสมคิด สีฤทธิ์ เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2516 และเป็นพี่น้องฝาแฝดกับจำเลยที่ 4 ไม่ได้เป็นบุคคลต่างด้าว มีชื่อตกหล่นจากทะเบียนบ้านเลขที่ 82 หมู่ที่ 6 ตำบลนาโพธิ์ กิ่งอำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคามเพื่อขอเพิ่มเติมชื่อเข้าในทะเบียนบ้านเลขที่ดังกล่าว ซึ่งความจริงแล้ว พวกของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวไม่ได้ชื่อนายสมคิด สีฤทธิ์ไม่ได้เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และมิได้เป็นพี่น้องฝาแฝดกับจำเลยที่ 4 แต่อย่างใด และเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางลำดวน เวชรัตนะวัฒน์ นายอำนวย ภูหนองโองและทางราชการที่ว่าการกิ่งอำเภอกุดรังหรือประชาชน และเป็นการกระทำเพื่อให้พวกของจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นคนไม่มีสัญชาติไทย ที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้องมีชื่อหรือมีรายการอย่างหนึ่งอย่างใดในทะเบียนบ้านเลขที่ 82 หมู่ที่ 6 ตำบลนาโพธิ์ กิ่งอำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม โดยมิชอบ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 137, 267 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 50 วรรคสอง และให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขดำที่ 2334/2540 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสั่งให้แยกฟ้องจำเลยที่ 3 ภายใน 10 วัน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 137, 267 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรพ.ศ. 2534 มาตรา 50 วรรคสอง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 50 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษเห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาขอให้รอการลงโทษ โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จำเลยที่ 1 เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จำเลยที่ 2 และที่ 4 เคยได้รับการอบรมจากทางราชการเพื่อนำความรู้ไปพัฒนาหมู่บ้าน และมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวให้การศึกษาแก่หลานเห็นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ได้ร่วมกับพวกอีกสองคนแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมายผู้กระทำการตามหน้าที่เกี่ยวกับงานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อให้พวกของจำเลยซึ่งเป็นคนไม่มีสัญชาติไทย มีชื่อหรือมีรายการอย่างหนึ่งอย่างใดในทะเบียนบ้านเลขที่ 82 หมู่ที่ 6 ตำบลนาโพธิ์ กิ่งอำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคามโดยมิชอบ เป็นการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศชาติพฤติการณ์แห่งคดีการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงร้ายแรงข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษให้จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษให้นั้น เหมาะสมกับสภาพความผิดแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 50 วรรคสอง ระวางโทษหนักขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา 50 วรรคหนึ่งนั้นมุ่งหมายเฉพาะผู้ซึ่งกระทำผิดตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีสัญชาติไทย เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4เป็นผู้ซึ่งมีสัญชาติไทย จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 50 วรรคสอง คงเป็นความผิดตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ตามมาตรา 50 วรรคสอง นั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง แต่ยังเห็นว่าอัตราโทษที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษมานั้นเหมาะสมแล้ว”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share