แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ป่าไม้เขตได้ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่คัดเลือกไม้ที่ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจประเภทไม้แก่จัดมีขนาดโตเกินขนาดจำกัดมากและอยู่ในวัยเสื่อมโทรมหรือยอดไม่สมบูรณ์และให้ตีตราคัดเลือกอนุญาตให้ตัดฟันไม้เพื่อบำรุงป่า หรือ บร. กับทำบัญชีคัดเลือกไม้เสนอผู้บังคับบัญชาแล้วป่าไม้เขตจะได้ประมูลหาผู้รับจ้างตัดโค่นและซื้อไม้ดังกล่าว โดยแต่งตั้งให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15ไปทำการตรวจวัดตีตรารัฐบาลขาย หรือ รข.เป็นการอนุญาตให้ชักลากไม้ได้ โดยจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15จะต้องตีตราเฉพาะไม้ที่มีตรา บร. เท่านั้น และจะต้องตรวจดูว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตีตราต้นไม้ถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้อง จะตีตรา รข. ไม่ได้ และจะต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กลับตีตราไม้ที่ดีมีค่าทางเศรษฐกิจเป็นการขัดคำสั่ง ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกิดความเสียหายแก่กรมป่าไม้และ รัฐเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำบัญชีสำรวจคัดเลือกตีตราไม้เสนอ ผู้บังคับบัญชา ซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารดังกล่าว จึงมีความผิดฐานรับรองเป็นหลักฐานว่าได้กระทำการตามที่ระบุในเอกสารขึ้นอันเป็นความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(1) จำเลยที่ 16 ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 17 เป็นกรรมการ ได้ทำสัญญาตัดฟันไม้และซื้อไม้เหล่านั้นกับกรมป่าไม้ โดยจำเลยที่ 16 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการตัดฟันไม้แทน และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 ได้ตีตราไม้ที่ยังไม่มีตรา บร. แสดงว่าเป็นไม้ที่ยังไม่ได้รับการคัดเลือกจากจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเกิดความเสียหายแก่กรมป่าไม้และรัฐตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157และการที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสารได้ทำบัญชีรับรองเป็นหลักฐานว่าตน ได้ตีตรา รข. บนไม้ที่มีการคัดเลือกแล้วทุกต้น อันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 จึงมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(1) ด้วย ขณะที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตีตรา บร. คัดเลือกไม้ที่จะทำการ โค่น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยังไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้ประมูล โค่นไม้และซื้อไม้ได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 16 และ ที่ 17 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17 ตัดโค่นไม้ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตีตราไว้ตามสัญญาจ้างตัดโค่นและขายไม้ที่ทำไว้ จำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17 จึงไม่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 อย่างไรก็ดีปรากฏว่า ไม้ที่ตัดโค่นบางส่วนไม่มีตราของทางราชการใด ๆ เลย จำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17 จึงมีความผิดฐานร่วมกันทำไม้ และมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดย ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกจำเลยทั้งสิบห้าในสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 15 ตามเดิม และเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 16 และที่ 17 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 5, 6, 7, 11, 6973, 74 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 5, 6,9, 14, 31, 35 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91, 157160, 162 และริบของกลางทั้งหมด เว้นแต่ค้อนรูปรอยตราประจำตัวและรูปรอยดวงตราของทางราชการกรมป่าไม้ให้คืนเจ้าของ
จำเลยทั้งสิบเจ็ดให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 10 ถึงแก่ความตายศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 10 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162(1) เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษฐานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบจำคุกคนละ 3 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารเท็จจำคุกคนละ 2 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 5, 6, 7, 11, 69, 73, 74 การกระทำเป็นความผิดสองกรรมให้เรียงกระทงลงโทษ ฐานตัดฟันไม้หวงห้าม จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 17คนละ 5 ปี ปรับคนละ 100,000 บาท ฐานมีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 17 คนละ 5 ปี ปรับคนละ 100,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 16 เป็นนิติบุคคลฐานตัดฟันไม้หวงห้ามปรับ 200,000 บาท ฐานมีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองปรับ 200,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 (ที่ถูกเป็นจำเลยที่ 2) ถึงที่ 9 และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 คนละ 5 ปี จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 17 คนละ 10 ปีปรับคนละ 200,000 บาท และปรับจำเลยที่ 16 เป็นเงิน 400,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 17 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ส่วนจำเลยที่ 16 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินบังคับคดีส่วนไม้ของกลางนั้นนอกจากไม้ตามที่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 225/2536 มีคำสั่งให้เพิกถอนการอายัดให้ริบเสียทั้งสิ้น ข้อหาอื่นให้ยกคืนค้อนรูปรอยตราประจำตัวและรูปรอยตราของทางราชการกรมป่าไม้แก่เจ้าของ
โจทก์ทั้งสองสำนวน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 และจำเลยที่ 11ถึงที่ 17 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญากับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17 ในความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ด้วย ไม่ริบไม้ของกลางทั้งหมดนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า กรมป่าไม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการทดลองจัดการป่าแบบอเนกประโยชน์จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีวัตถุประสงค์เพื่อทดลองจัดการป่าบนรากฐานของอเนกประโยชน์ให้ผลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รายละเอียดวัตถุประสงค์และแนวทางปฏิบัติปรากฏตามเอกสารหมาย จ.13จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 เป็นข้าราชการป่าไม้สำนักงานป่าไม้เขตแม่สะเรียง กรมป่าไม้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ได้รับคำสั่งจากป่าไม้เขตแม่สะเรียงให้ทำหน้าที่คัดเลือกไม้บำรุงป่า โดยให้คัดเลือกไม้ที่ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ไม้สองนาง ไม้ตายภาค ไม้ยอดด้วยออก โดยให้ปฏิบัติตามโครงการทดลองจัดการป่าแบบอเนกประโยชน์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เอกสารหมาย จ.13 ข้อ 7 เมื่อคัดเลือกได้แล้วให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตีตราคัดเลือกอนุญาตให้ตัดฟันไม้เพื่อบำรุงป่าหรือ บร. และตีตราประจำตัวหรือ ต. โดยจำเลยที่ 2 ตีตรา ต.5950 ตราบร.136 จำเลยที่ 3 ตีตรา ต.5729 ตรา บร.137 จำเลยที่ 4 ตีตรา ต.5954 ตรา บร.138 และตีตราเลขเรียงต้นเป็นลำดับไป จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ตีตรา บร. เสร็จแล้วได้ทำบัญชีคัดเลือกไม้เสนอป่าไม้เขตแม่สะเรียง แล้วป่าไม้เขตแม่สะเรียงได้ประมูลหาผู้รับจ้างตัดโค่นและซื้อไม้ดังกล่าว จำเลยที่ 16 โดยจำเลยที่ 17 เป็นผู้ประมูลและซื้อไม้ดังกล่าวได้ ได้ทำสัญญากับป่าไม้เขตแม่สะเรียง รวม 3 ฉบับ ปรากฏตามสัญญาจ้างตัดโค่นตัดทอนและขายไม้สักและไม้กระยาเลยที่ตัดเพื่อบำรุงป่าออกจากโครงการทดลองจัดการป่าแบบอเนกประโยชน์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เอกสารหมาย จ.62 จ.63 และจ.64 ในการตัดโค่นตัดทอนไม้และการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ จำเลยที่ 17 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 16 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 กระทำการแทนในการตัดไม้จะต้องตัดไม้เฉพาะต้นที่มีการประทับตรา ต.และ บร. เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 16 ตัดโค่นไม้แล้ว ป่าไม้เขตแม่สะเรียงได้แต่งตั้งจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 ให้ไปทำการตรวจวัดและตีตรา รข. ในการตีตรา รข. เป็นการอนุญาตให้ชักลากไม้ได้ และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 จะตีตรา รข. ได้เฉพาะต้นไม้ที่ตีตรา ต.และ บร.เท่านั้นและในการตีตรา รข. ดังกล่าวจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 จะต้องตรวจดูว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตีตราต้นไม้ถูกต้องตามเอกสารหมาย จ.13 ข้อ 7 หรือไม่ หากไม่ถูกต้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 จะตีตรา รข. ไม้นั้นไม่ได้และจะต้องรายงานให้ป่าไม้เขตแม่สะเรียงทราบขณะที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 ตีตรา รข. อยู่นั้น ได้มีราษฎรร้องเรียนต่อพลเอกหาญ ลีนานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า การตัดโค่นไม้ในโครงการทดลองจัดการป่าแบบอเนกประโยชน์ จังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป็นการทำลายป่าไม่ใช่บำรุงป่าวันที่ 13 มีนาคม 2530 พลเอกหาญ ลีนานนท์ ได้มีคำสั่งที่ 131/2530 แต่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยทางวิชาการเกี่ยวกับการตัดไม้ตามโครงการทดลองจัดการป่าแบบอเนกประโยชน์จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้วินิจฉัยว่าการดำเนินการตามโครงการนี้โดยเฉพาะการคัดเลือกไม้และการตัดไม้ตามโครงการ เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ หรือตามหลักการทดลองทางวิชาการหรือหลักการตัดไม้บำรุงป่าหรือไม่เพียงใด ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.14 โดยมีนายสมศักดิ์ สุขวงศ์ คณบดีคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธาน และมีกรรมการอื่นอีก 18 คน คณะกรรมการดำเนินการเสร็จได้สรุปว่าการดำเนินการคัดเลือกและการตัดไม้ตามโครงการทดลองจัดการป่าแบบอเนกประโยชน์ไม่เป็นไปตามหลักการทดลอง ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการและไม่เป็นไปตามหลักการตัดไม้บำรุงป่า รายละเอียดปรากฏตามรายงานเอกสารหมาย จ.28 วันที่ 8 กันยายน 2530 อธิบดีกรมป่าไม้ได้สั่งการให้ป่าไม้เขตแม่สะเรียงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 16 โดยอ้างว่าสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม โดยเข้าใจว่าไม้ที่คัดเลือกออกเป็นไม้ที่มีลักษณะราบ คดงอ แมลงทำลาย ยืนต้นตาย เถาวัลย์พัน ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ดังนั้นสัญญาจึงตกเป็นโมฆะ และจำเลยที่ 16 ได้ตัดไม้ที่ไม่มีรูปรอยตรา ต. และตรา บร.จึงถือว่าจำเลยที่ 16 เป็นฝ่ายผิดสัญญาปรากฏตามเอกสารหมาย จ.113 ป่าไม้เขตแม่สะเรียงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 16 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2530ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.114
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้กระทำความผิดฐานใดหรือไม่ พยานโจทก์ดังกล่าวมีเหตุผลและสอดคล้องต้องกันทั้งพยานดังกล่าวปฏิบัติไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เชื่อว่าเบิกความไปตามความจริงส่วนทางนำสืบของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่ว่า จำเลยได้ว่าจ้างคนงานให้ช่วยเหลือจำเลยคนละ 4 คน และการประทับตราเป็นความผิดพลาดของคนงานนั้น เห็นว่า คนงานเป็นผู้ปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลยดังนั้น จำเลยจะปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อ้างว่าที่การทำไม้ไม่ปรากฏร่องรอยตายภาคหรือโคนโพรงอาจเนื่องมาจากการชักลากหรือมีการตบแต่งไม้ก่อนชักลากนั้นเห็นว่า เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ขาดเหตุผลข้อนำสืบของจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ไม่อาจฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตีตรา บร. ซึ่งอนุญาตให้ตัดฟันไม้ที่ดีมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ไม้ทราม ไม้ตายภาค ไม้สองนาง ไม้โคนโพรง หรือโคนไฟไหม้ และตามคำสั่งป่าไม้เขตแม่สะเรียง ที่ 365/2529 เรื่อง การทำไม้และการตัดไม้บำรุงป่าในโครงการทดลองจัดการป่าแบบอเนกประโยชน์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เอกสารหมาย จ.41 แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่ไปสำรวจคัดเลือกตีตราไม้เพื่อเป็นการตัดไม้บำรุงป่าตามแนวทางปฏิบัติในการทำไม้ของโครงการทดลองจัดการป่าแบบอเนกประโยชน์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เอกสารหมาย จ.13 ข้อ 7 ทุกประการโดยเคร่งครัด ซึ่งความในข้อ 7 ของเอกสารดังกล่าวมีว่าให้ตัดไม้แก่จัด มีขนาดโตเกินขนาดจำกัดมากและอยู่ในวัยเสื่อมโทรม หรือยอดไม่สมบูรณ์ และไม้เสื่อมโทรมอื่น ๆ อีก การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าพนักงานตีตรา บร. อนุญาตให้ตัดไม้ดีมีค่าทางเศรษฐกิจเป็นการขัดคำสั่งไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมป่าไม้หรือรัฐ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ตีตรา บร. แล้ว ยังได้ทำบัญชีสำรวจคัดเลือกตีตราไม้เพื่อตัดไม้บำรุงป่าเสนอต่อป่าไม้เขตแม่สะเรียง ปรากฏตามเอกสารหมายจ.385, จ.386 และ จ.388 ซึ่งบัญชีดังกล่าวระบุในช่องหมายเหตุไม่เป็นความจริง แต่เป็นความเท็จจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารดังกล่าว จึงมีความผิดฐานรับรองเป็นหลักฐานว่าได้กระทำการตามที่ระบุในเอกสารดังกล่าวขึ้นอันเป็นความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(1)
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 กระทำผิดฐานใดหรือไม่ ดังนี้จะเห็นได้ว่าพยานโจทก์ในส่วนนี้เบิกความสอดคล้องต้องกันทั้งมีพยานเอกสารหมายจ.302 สนับสนุนทำให้มีน้ำหนักมั่นคงยิ่งขึ้น พยานจำเลยที่ 5ถึงที่ 9 และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 ที่อ้างว่าได้ตีตรารข.บนท่อนไม้ทุกต้นที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตีตรา บร. ไว้ไม่อาจฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และจำเลยที่ 11ถึงที่ 15 ตีตรา รข. บนไม้ที่ยังไม่ได้รับการคัดเลือกดังกล่าวเป็นการขัดคำสั่งของป่าไม้เขตแม่สะเรียงที่มีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 ไปตีตรา รข.บนไม้ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตีตราบร.ไว้แล้ว ปรากฏตามคำสั่งเอกสารหมาย จ.71 จ.75 และ จ.85 ถึง จ.92 การกระทำของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมป่าไม้หรือรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และการที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารได้ทำบัญชีตามเอกสารหมาย จ.381 รับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้ตีตรา รข. บนไม้ที่มีการคัดเลือกแล้วทุกต้นซึ่งเป็นความเท็จจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(1) ด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 และจำเลยที่ 11ถึงที่ 15 ในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่เห็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ตีตรา บร.คัดเลือกไม้ที่จะทำการตัดโค่น ในขณะนั้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ประมูลตัดโค่นไม้และซื้อไม้ได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17 เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำผิดสำหรับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 เป็นผู้ที่ได้รับคำสั่งให้ตีตรา รข. เฉพาะไม้ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตีตรา บร.คัดเลือกไม้ไว้แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17 ตัดโค่นไม้ทีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตีตราไว้ และจำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17ตัดโค่นไม้ตามสัญญาจ้างตัดโค่นตัดทอนและขายไม้สักและไม้กระยาที่ตัดเพื่อบำรุงป่าออกจากโครงการทดลองจัดการป่าแบบอเนกประโยชน์จังหวัดแม่ฮ่องสอนเอกสารหมาย จ.62 ถึงจ.64 เป็นการปฏิบัติตามสัญญา คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17 เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานในการกระทำความผิดแต่ประการใด
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฐานร่วมกันทำไม้และมีไม้หวงห้ามที่ยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองหรือไม่ ดังนี้ จะเห็นได้ว่าพยานโจทก์เบิกความมีรายละเอียดมีเหตุผลทั้งสอดคล้องเชื่อมโยงกันพยานจำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17 ที่อ้างว่ารอยตราลบหายไปก็ดี หรือมีคนอื่นนำไม้ผิดกฎหมายมารวมไว้ที่หมอนของจำเลยที่ 16ก็ดี ไม่อาจรับฟังได้เพราะที่รวมหมอนของจำเลยที่ 16 มีคนงานของจำเลยที่ 16 เฝ้าดูแลอยู่ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ที่ 16 และที่ 17 ร่วมกันทำไม้และมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 และจำเลยที่ 11ถึงที่ 15 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162(1)การกระทำเป็นความผิดสองกรรมให้เรียงกระทงลงโทษ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจำคุกคนละ 3 ปีฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นอันเป็นความเท็จจำคุกคนละ 2 ปี จำเลยที่ 1ที่ 16 และที่ 17 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 11, 69 วรรคสอง, 73 วรรคสอง, 74 การกระทำเป็นความผิดสองกรรมให้เรียงกระทงลงโทษ ฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 17 คนละ 3 ปีปรับจำเลยที่ 16 เป็นเงิน 100,000 บาท ฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 17 คนละ3 ปี ปรับจำเลยที่ 16 เป็นเงิน 100,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2ถึงที่ 9 และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 คนละ 5 ปี จำคุกจำเลยที่ 1และที่ 17 คนละ 6 ปี ปรับจำเลยที่ 16 เป็นเงิน 200,000 บาทหากไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ ของกลางทั้งหมดนอกจากไม้ของกลางที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการอายัดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 225/2536 และของกลางที่ศาลชั้นต้นสั่งคืนแก่เจ้าของแล้ว ให้ริบเสียทั้งสิ้นนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์