คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 471/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการทำการกู้ยืมเงินและให้กู้ยืม รับจำนำ จำนองสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ โดยมีหรือไม่มีหลักประกัน รวมทั้งการค้ำประกันหนี้สินทุกประเภททั้งในและนอกประเทศ บริษัทโจทก์ได้ตั้งวงแชร์และเป็นผู้ค้ำประกันลูกวง กล่าวคือ หากลูกวงผู้ประมูลแชร์ได้ไม่ชำระเงินค่าแชร์ให้แก่ลูกวงแชร์คนต่อไปบริษัทโจทก์จะชำระแทน ดังนี้ ถือได้ว่าบริษัทโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันการเล่นแชร์ซึ่งเป็นสัญญาชนิดหนึ่งที่บังคับได้ตามกฎหมาย และตรงกับวัตถุประสงค์ของบริษัทโจทก์ จึงหาเป็นการดำเนินกิจการนอกวัตถุประสงค์ของบริษัทโจทก์ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกวงได้รับเงินแชร์ไปแล้ว ไม่นำเงินมาชำระค่าแชร์ให้แก่ลูกวงคนอื่น และบริษัทโจทก์ได้ใช้เงินแทนแก่ลูกวงไป จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ใช้เงินคืนแก่บริษัทโจทก์ และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดตามสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ และนอกจากนี้การที่บริษัทโจทก์จะมีอำนาจทำสัญญาค้ำประกันการเล่นแชร์ได้หรือไม่อย่างไร ก็เป็นเรื่องของทางราชการที่จะว่ากล่าวกับบริษัทโจทก์ว่าทำนอกวัตถุประสงค์หรือไม่ ไม่เกี่ยวกับจำเลย
(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1804/2500)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดประเภทพาณิชย์กิจในการตั้งวงแชร์ เปียหวย มีสิทธิและหน้าที่รับผิดชอบต่อลูกวงทุกคน จำเลยที่ ๑ เป็นลูกวงคนหนึ่ง จำเลยที่ ๑ ประมูลแชร์และรับเงินจากโจทก์ไปแล้ว โดยจำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาค้ำประกันว่าถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระค่าแชร์งวดต่อ ๆ ไป จำเลยที่ ๒ จะชำระแทน ต่อมาจำเลยที่ ๑ ไม่ส่งค่าแชร์ให้โจทก์ โจทก์ทวงถาม จำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระ จึงขอให้จำเลยชำระเงินค่าแชร์ ๒๒,๙๕๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่บริษัทโจทก์เป็นเจ้าของมือแชร์นั้นเป็นกิจการอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ ซึ่งไม่สามารถจะทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๙ ทั้งมิใช่เป็นการค้ำประกันหนี้สิน บริษัทโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าบริษัทโจทก์ดำเนินกิจการนอกวัตถุประสงค์หรือไม่ และจะมีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่นั้น เห็นว่าตามข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัทโจทก์ตั้งวงแชร์และเป็นผู้รับประกันลูกวง กล่าวคือ หากลูกวงผู้ประมูลแชร์ได้ ไม่ชำระเงินค่าแชร์ให้แก่ลูกวงคนต่อไป บริษัทโจทก์จะชำระแทน เช่นนี้ ถือได้ว่าบริษัทโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันการเช่นแชร์ ซึ่งเป็นสัญญาชนิดหนึ่งที่บังคับได้ตามกฎหมาย ตรงกับวัตถุประสงค์ตามหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อ ๓ (๑๑) ซึ่งมีความว่า “ทำการกู้ยืมเงินและให้กู้ยืมเงิน รับจำนำ จำนองสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ โดยมีหรือไม่มีหลักประกัน รวมทั้งการค้ำประกันหนี้สินทุกประเภททั้งในประเทศและนอกประเทศ” จึงหาเป็นการดำเนินกิจการนอกวัตถุประสงค์ดังข้อวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองไม่ เมื่อบริษัทโจทก์ใช้เงินแทนแก่ลูกวงไป จำเลยที่ ๑ ก็มีหน้าที่ต้องใช้เงินคืนแก่บริษัทโจทก์ และจำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันตามสัญญาที่จำเลยทั้งสองทำไว้กับโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย และนอกจากนี้การที่บริษัทโจทก์จะมีอำนาจทำสัญญาค้ำประกันการเล่นแชร์ได้หรือไม่อย่างไร
ก็เป็นเรื่องของทางราชการที่จะว่ากล่าวกับบริษัทโจทก์ว่าทำนอกวัตถุประสงค์หรือไม่ หาเกี่ยวกับจำเลยไม่ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๐๔/๒๕๐๐ คดีระหว่าง บริษัท นวรัตน์ จำกัด โดยนายเกษม รัตนาวดี กับพวก กรรมการ โจทก์ นายวิเชียร เลขยานนท์ จำเลย ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโดยอ้างว่า บริษัทโจทก์ดำเนินกิจการนอกวัตถุประสงค์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
กรณีไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างพิพากษาใหม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ ๑ ค้างชำระเงินแชร์ที่บริษัทโจทก์ใช้แทนไปเป็นเงิน ๒๒,๙๕๐ บาท โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาภายในกำหนด ๗ วัน นับแต่วันบอกกล่าว ซึ่งจำเลยได้รับคำบอกกล่าวเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๑๕ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ตามสัญญาที่ทำไว้ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๑๕ อันเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไป
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันใช้เงิน ๒๒,๙๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปีในต้นเงินนี้ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๑๕ เป็นต้นไปจนกว่าจะใช้เงินแก่โจทก์เสร็จ

Share