คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5434/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตัวจำเลยในคดีอาญาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายประกันยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์อันเป็นหลักประกันโดยอ้างว่าดำเนินการไปโดยไม่ชอบ เป็นกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาร้องว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนการบังคับคดีเสร็จลง เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินในวันที่ 5 มิถุนายน 2539 ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองชำระราคาที่ดินครบถ้วนกับได้จดทะเบียนรับโอนสิทธิครอบครองที่ดินแล้วเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2539 ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีก็จัดทำบัญชีส่วนแบ่งเสร็จและรายงานศาลพร้อมบัญชีส่วนแบ่งแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 21ตุลาคม 2539 ว่าส่งเงิน 200,000 บาท ไปยังศาลเพื่อชำระค่าปรับของนายประกัน กับเรียกนายประกันรับเงินส่วนที่เหลือคืน ถือว่าการบังคับคดีเสร็จลงแล้วตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งดังกล่าว โดยไม่ต้องพิจารณาว่าศาลได้รับเงินจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วหรือไม่ เพราะเป็นกระบวนการภายในของศาลเอง เมื่อผู้ร้องมายื่นคำร้องในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสาม แล้วคงจำคุก1 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 100,000 บาท แก่โจทก์ร่วม จำเลยอุทธรณ์ ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ผู้ร้องยื่นคำร้องขอปล่อยจำเลยชั่วคราว โดยมีหลักประกันเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 302 หมู่ที่ 5 ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยตีราคาประกัน 200,000 บาท ถึงวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ผู้ร้องผิดสัญญาประกันไม่สามารถนำจำเลยไปฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งปรับผู้ร้องเป็นเงิน 200,000 บาท ตามสัญญาประกันต่อมาศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งพิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษากลับให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ในฐานะผู้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11(8) ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันของผู้ร้องออกขายทอดตลาด ได้มีการประกาศขายทอดตลาดรวม 10 ครั้ง แต่มีเหตุต้องเลื่อนการขายทุกครั้ง เนื่องจากไม่มีผู้เสนอราคา ครั้งสุดท้ายเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดวันที่ 5 มิถุนายน 2539 ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองเป็นผู้เสนอราคาเป็นเงิน 300,000 บาท ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายได้

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องไม่ทราบวันขายทอดตลาด และราคาที่ขายต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินมาก เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดโดยไม่สุจริตและฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 513 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296วรรคสอง, 308 ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว

เจ้าพนักงานบังคับคดียื่นคำคัดค้านว่า ผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องทราบวันนัดขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดโดยสุจริตเปิดเผย และได้ราคาสูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ขณะยึดทรัพย์ จึงชอบด้วยระเบียบและกฎหมายแล้วขอให้ยกคำร้อง

ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งวันขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทราบโดยชอบแล้ว ราคาที่ขายทอดตลาดเป็นราคาที่สูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดโดยชอบ ได้มีการจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์เสร็จสิ้นแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 302 หมู่ที่ 5 ตำบลอ่าวน้อยอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ของผู้ร้อง

ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นนายประกันผิดสัญญาประกัน ศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ร้องเป็นเงิน 200,000 บาท ผู้ร้องไม่ชำระค่าปรับ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 302ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์อันเป็นหลักประกันเพื่อขายทอดตลาด โดยตีราคาประเมินเป็นเงิน 253,125 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดมาแล้วรวม 10 ครั้ง แต่ไม่สามารถขายได้เนื่องจากไม่มีผู้เข้าสู้ราคา ครั้งสุดท้ายเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดในวันที่ 5 มิถุนายน 2539 ซึ่งผู้ร้องได้ทราบกำหนดวันขายทอดตลาดดังกล่าวแล้ว แต่มิได้ไปดูแลการขาย มีผู้เข้าสู้ราคา 3 คน ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองซื้อได้ในราคา 300,000 บาท ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองได้ชำระเงินค่าที่ดินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีครบถ้วน และได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวมาเป็นของผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2539 ปรากฏว่าในวันที่ 21 กันยายน 2537 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เคยประเมินราคาที่ดินดังกล่าวไว้เป็นเงิน 3,145,000 บาท แต่ในวันจดทะเบียนสิทธิให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสอง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ประเมินราคาที่ดินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเป็นเงิน 4,157,500 บาท ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองเป็นข้อแรกว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้หรือไม่ ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองฎีกาว่าคดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดที่ดินอันเป็นหลักประกันแล้วและมีหนังสือส่งเงินค่าปรับต่อศาลแล้วตามเอกสารหมาย รค.8 พร้อมส่งบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายแจ้งให้ผู้ร้องไปรับเงินส่วนที่เหลือแล้ว ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว ผู้ร้องมายื่นคำร้องนี้เป็นเวลาภายหลังจากการบังคับคดีได้เสร็จลง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องนี้ เห็นว่า การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตัวจำเลยในคดีอาญา เห็นว่าการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตัวจำเลยในคดีอาญาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้บัญญัติว่าถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้น แล้วแต่กรณีอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น ขอให้ศาลมีคำสั่งยกกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะฯลฯการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์อันเป็นหลักประกันโดยอ้างว่าการขายทอดตลาดดำเนินการไปโดยไม่ชอบ จึงเป็นกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาร้องว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดที่ดินในวันที่ 5 มิถุนายน 2539 ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองเป็นผู้ซื้อได้ในราคา 300,000 บาท ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองได้ชำระราคาที่ดินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีครบถ้วนแล้วและได้จดทะเบียนรับโอนสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2539 ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองนำสืบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวชำระค่าปรับให้แก่ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้วตามเอกสารหมายรค.8 ทั้งได้แจ้งให้ผู้ร้องมารับเงินส่วนที่เหลือจากการบังคับคดีแล้วตามเอกสารหมายรค.7 ก่อนวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ ผู้ร้องนำสืบแต่เพียงว่าผู้ร้องได้ทราบการขายทอดตลาดที่ดินของผู้ร้องเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2539 ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 ซึ่งยังไม่เกิน 8 วันนับแต่วันทราบการขายทอดตลาด ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนการยึดทรัพย์บังคับคดีในคดีนี้แล้วตามรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2539 ซึ่งได้รายงานว่ามีการทำบัญชีแสดงรายการรับและจ่ายเงินในคดีนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีคำสั่งในรายงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 เดือนเดียวกันว่า ส่งเงินจำนวน 200,000 บาท ไปยังศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรียกนายประกันรับเงินที่เหลือคืนเอกสารในสำนวนการยึดทรัพย์ถัดมาปรากฏเป็นสำเนาหมายแจ้งผู้ร้องให้ไปตรวจรับรองบัญชีแสดงรายการรับและจ่ายเงินและรับเงินส่วนที่เหลือจำนวน 83,231 บาทและมีปรากฏรายงานการส่งหมายของเจ้าหน้าที่ว่าได้จัดการส่งหมายแจ้งดังกล่าวให้ผู้ร้องแล้วเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 โดยวิธีปิดหมาย นอกจากนี้ยังปรากฏสำเนาหนังสือถึงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไม่ลงวันที่ แต่ลงเดือนพฤศจิกายน 2539 ว่าขอส่งบัญชีแสดงรายการรับและจ่ายเงินจำนวน 1 ฉบับ และเช็คธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสาขาประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 200,000 บาท เป็นเงินค่าปรับนายประกันและลงชื่อนายสำเนา สุวรรณสัมพันธ์ หัวหน้าสำนักงานบังคับคดีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในสำนวนการยึดทรัพย์บังคับคดีดังกล่าวไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้รับเงินจำนวน 200,000 บาทนั้นแล้วหรือไม่ นายสำเนา สุวรรณสัมพันธ์มาเบิกความเป็นพยานผู้ร้องก็มิได้เบิกความถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวแต่อย่างไรก็ตามเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถือเป็นเจ้าพนักงานของศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา การยึดหลักประกันการขายทอดตลาดตลอดจนการรับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเป็นการดำเนินการตามคำสั่งของศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดและรับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดจัดทำบัญชีส่วนแบ่งเสร็จสิ้นแล้ว และรายงานศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์พร้อมบัญชีส่วนแบ่ง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2539 ว่าส่งเงิน 200,000 บาท ไปยังศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียกนายประกันรับเงินส่วนที่เหลือคืน ถือได้ว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว ตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งดังกล่าว โดยไม่ต้องพิจารณาว่าศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้รับเงินจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วหรือไม่ เพราะเป็นกระบวนการภายในของศาลเอง เมื่อผู้ร้องมายื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 อันเป็นเวลาภายหลังการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีนี้ได้คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาต่อไปที่ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดโดยไม่ชอบหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของผู้ร้อง

Share