แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาว่าเป็นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งอนุญาตให้ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้หรือไม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาของโจทก์เพียงว่าส่งสำเนาคำร้องนี้ให้จำเลยพร้อมสำเนาอุทธรณ์ หากจะคัดค้านประการใดให้แถลงคัดค้านภายใน 15 วัน นับแต่รับสำเนาอุทธรณ์ แล้วจึงจะพิจารณาสั่งต่อไป และศาลชั้นต้นสั่งในอุทธรณ์ว่ารับอุทธรณ์ของโจทก์ หมายส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแก้ภายใน15 วัน นับแต่รับสำเนาอุทธรณ์ ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหมาย ให้โจทก์นำส่งภายใน 7 วันดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แต่เมื่อจำเลยไม่คัดค้านคำร้องขออุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาภายในกำหนดเวลาแก้อุทธรณ์ และศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนมายังศาลฎีกาแล้วจึงอนุโลมได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิวรรคหนึ่ง แล้ว
หนังสือสัญญากู้เงินมีใจความว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารโจทก์ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีหรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ข้างต้นนี้ และผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศของธนาคาร สัญญาข้อนี้เป็นข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในระหว่างสัญญาได้แม้จำเลยมิได้ผิดนัดชำระหนี้จึงเป็นดอกเบี้ยซึ่งเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสามแม้ในทางปฏิบัติระหว่างโจทก์กับจำเลยปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในครั้งแรกเพียงอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ก็เป็นข้อปฏิบัติในลักษณะที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยนอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญา จึงยังเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะไม่ยอมให้ประโยชน์แก่จำเลยอีกต่อไปโดยกลับไปคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามข้อตกลงในสัญญาได้อีก ข้อสัญญาดังกล่าวนี้จึงไม่เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันจะถือเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และแม้ตามหนังสือสัญญากู้เงินจะระบุว่า หากผู้กู้ผิดนัดยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าที่กำหนดได้ก็ตาม แต่ดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องที่โจทก์เรียกจากจำเลยในอัตราเท่ากับอัตราตามข้อตกลงในสัญญาเท่านั้น มิได้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจึงมิใช่เบี้ยปรับ ศาลย่อมไม่มีอำนาจลดลงตาม ป.พ.พ.มาตรา 383 วรรคหนึ่งได้