แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นลูกจ้างผู้เสียหายมีหน้าที่จำหน่ายสินค้า ให้แก่ลูกค้าแล้วนำเงินมามอบให้ผู้เสียหาย จำเลยรับสินค้าไปจากผู้เสียหายแล้ว มิได้นำไปจำหน่ายแก่ลูกค้า แต่นำไปจำนำ และขายฝาก เป็นการเบียดบังทรัพย์สินของผู้อื่นที่อยู่ในความครอบครอง ของจำเลยโดยทุจริต ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะเป็นลูกจ้าง ผู้เสียหายหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยครอบครองทรัพย์ ของผู้เสียหายแล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปโดยทุจริต จำเลยย่อม มีความผิดฐานยักยอกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรกฎีกาของจำเลยที่ว่า พนักงานของผู้เสียหายไม่มีเงินเดือน แต่จะได้รับรายได้จากค่าคอมมิชชั่นของการขายและเปอร์เซ็นต์ จากการขายเป็นรายเดือน จำเลยจึงไม่ใช่ลูกจ้างผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั้น จึงไม่เป็นสาระสำคัญ แก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352และให้คืนหรือชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 3 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 240,347 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 สำหรับคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าจำเลยเป็นลูกจ้างผู้เสียหายมีหน้าที่จำหน่ายสินค้าให้แก่ลูกค้าแล้วนำเงินมามอบให้ผู้เสียหาย จำเลยรับสินค้าจำนวน 28 รายการตามฟ้องไปจากผู้เสียหายแล้ว มิได้นำไปจำหน่ายแก่ลูกค้า แต่นำไปจำนำและขายฝากเป็นการเบียดบังทรัพย์สินของผู้อื่นที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยโดยทุจริต
จำเลยฎีกาข้อแรกว่า พนักงานของผู้เสียหายไม่มีเงินเดือนแต่จะได้รับรายได้จากค่าคอมมิชชั่นของการขายและเปอร์เซ็นต์จากการขายเป็นรายเดือนดังนั้น จำเลยจึงไม่ใช่เป็นลูกจ้างผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เห็นว่า ไม่ว่าจำเลยจะเป็นลูกจ้างผู้เสียหายหรือไม่ก็ตาม เมื่อจำเลยครอบครองทรัพย์ของผู้เสียหายแล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปโดยทุจริต ย่อมมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงไม่เป็นสาระสำคัญแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยมีว่าการกระทำของจำเลยเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่งหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าการที่จำเลยเบิกสินค้าที่อยู่ในความดูแลของผู้จัดการสาขาของผู้เสียหายแล้วนำไปขายให้ลูกค้า โดยจำเลยได้เงินตอบแทนเป็นค่าคอมมิชชั่นและได้เงินเปอร์เซ็นต์ แต่จะต้องส่งเงินที่ขายได้หรือเก็บได้ในราคาที่ทางบริษัทผู้เสียหายกำหนดจึงมิใช่กรณีจำเลยรับมอบสินค้าไว้แทนผู้เสียหาย แต่เป็นเรื่องผู้เสียหายขายสินค้าเชื่อให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่คืนสินค้าหรือนำส่งเงินที่เก็บได้ให้แก่ผู้เสียหาย จึงเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังเป็นยุติว่า ผู้เสียหายได้มอบสินค้าให้จำเลยนำไปจำหน่ายแก่ลูกค้า มิใช่เป็นการขายสินค้าจำนวน 28 รายการ ให้แก่จำเลยเมื่อจำเลยครอบครองทรัพย์ของผู้เสียหายแล้วเบียดบังเอาไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน