คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4707/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายย่อมมีอำนาจที่จะนำเช็คพิพาทมาฟ้องดำเนินคดีแก่จำเลยผู้ออกเช็คพิพาทได้ หลังจากโจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีแล้ว ส.ได้ชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้นเป็นกรณีที่ความรับผิดในส่วนแพ่งเกี่ยวกับเช็คพิพาทที่มีต่อโจทก์ระงับไปเท่านั้นคดีอาญาหายกเลิกไปไม่ โจทก์ยังคงเป็นผู้เสียหายในส่วนอาญาอยู่ จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทโดยประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 2ที่ 3 ออกเช็คพิพาทในฐานะส่วนตัวต่างหากจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาท เมื่อเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงมีความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 ที่ 3 อาจมีเจตนาใช้เงินตามเช็คแต่ละฉบับหรือไม่แตกต่างแยกกันได้ ความผิดสำหรับเช็คแต่ละฉบับจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน หาใช่เป็นความผิดกรรมเดียวกันไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนกรกฏาคม 2526 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกันกล่าวคือ จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาบางเขนลงวันที่ 30 สิงหาคม 2526 วันที่ 15 กันยายน 2526 และวันที่15 ตุลาคม 2526 สั่งจ่ายเงินจำนวน 100,000 บาท 200,000 บาทตามลำดับ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในฐานะส่วนตัวและในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ด้วย การประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ไว้ในเช็คดังกล่าว เช็คทั้งสามฉบับนี้จำเลยออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่นายสุรินทร์ จิราภรณ์มณีต่อมานายสุรินทร์ จิราภรณ์มณี ได้นำเช็คดังกล่าวมาขายลดให้โจทก์เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินให้เหตุผลเหมือนกันว่า “บัญชีปิดแล้ว”โจทก์ได้ทวงถามจำเลยแล้ว จำเลยไม่ชำระการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการร่วมกันออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คเหตุเกิดที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางเขน แขวงลาดยาวเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค มาตรา 3ให้ปรับเป็นเงิน 50,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 สำหรับจำเลยที่ 2 และ ที่ 3ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิด 3 กรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 1ปรับกระทงละ 30,000 บาท รวม 3 กระทงเป็นเงิน 90,000 บาทส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จำคุกกระทงละ 3 เดือน เป็นจำคุกคนละ 9 เดือน
จำเลยทั้งสามฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3ส่วนจำเลยที่ 1 สั่งไม่รับฎีกาเพราะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4, จ.6, จ.8 ที่โจทก์รับซื้อไว้จากนายสุรินทร์จิราภรณ์มณี นั้นจำเลยทั้งสามเป็นผู้สั่งจ่าย ต่อมาเมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่เรียกเก็บเงินไม่ได้ เนื่องจากธนาคารตามเช็คพิพาทปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า—————————————–บัญชีปิดแล้วปรากฏตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.5, จ.7, จ.9 โจทก์จึงมอบอำนาจให้นายสุรินทร์ ฟ้องจำเลยคดีนี้ หลังจากนั้นนายสุรินทร์ได้ชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ไปแล้วศาลฎีกาเห็นว่าความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเกิดขึ้นในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินดังนั้น จึงต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายย่อมมีอำนาจที่จะนำเช็คพิพาทมาฟ้องดำเนินคดีแก่จำเลยผู้ออกเช็คพิพาทได้ แม้ต่อมาหลังจากโจทก์มอบอำนาจให้นายสุรินทร์ฟ้องคดีนี้แล้ว นายสุรินทร์ได้ชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้โจทก์ไปแล้วก็เป็นเรื่องความรับผิดในส่วนแพ่งเกี่ยวกับเช็คพิพาทที่มีต่อโจทก์ระงับไปเท่านั้น โจทก์ยังคงเป็นผู้เสียหายในส่วนอาญาอยู่ คดีอาญาจึงหาได้ยกเลิกไปไม่ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ นายสุรินทร์ จิราภรณ์มณี พยานโจทก์เบิกความว่าจำเลยที่ 3 นำเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4, จ.6, จ.8 ที่จำเลยที่ 2ที่ 3 ลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายโดยประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 มามอบให้นายสุรินทร์เพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1กู้เงินไปจากนายสุรินทร์และนางเกศราพี่สาวของนายสุรินทร์ซึ่งจำเลยที่ 3 ก็เบิกความรับว่าได้ออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4,จ.6, จ.8 เพื่อแลกเช็คฉบับเดิมที่ออกไว้ แต่ต่อสู้ว่านางเกศราพี่สาวของนายสุรินทร์ไม่ได้นำเช็คฉบับเดิมมาคืนให้ ทั้งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความว่า ได้ออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4, จ.6, จ.8เพื่อให้จำเลยที่ 3 นำเช็คดังกล่าวไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างภาพยนตร์และโฆษณาภาพยนตร์ที่สร้าง จึงแสดงให้เห็นว่า เช็คพิพาททั้งสามฉบับเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ออกเช็คพิพาทโดยประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจทำการแทน จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3ออกเช็คพิพาทในฐานะส่วนตัวต่างหากจากจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทเมื่อโจทก์นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินไม่ได้เนื่องจากบัญชีปิดแล้วจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงมีความผิดตามฟ้อง เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับนั้น จำเลยที่ 2 ที่ 3 อาจมีเจตนาใช้เงินตามเช็คแต่ละฉบับหรือไม่แตกต่างแยกกันได้ ความผิดสำหรับเช็คแต่ละฉบับจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน หาใช่เป็นความผิดกรรมเดียวกันไม่
พิพากษายืน

Share