คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4706/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2543 ผู้นำของเข้ามีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ตามแบบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน ดังนั้น หากผู้นำเข้าไม่อุทธรณ์ก็ต้องถือว่าผู้นำเข้าพอใจการประเมิน การประเมินนั้นย่อมเป็นอันยุติ ผู้นำเข้าจะนำคดีมาฟ้องเพื่อให้เพิกถอนการประเมินหรือต่อสู้คดีในศาลว่าการประเมินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้นำเข้าได้รับหนังสือแจ้งการประเมินโดยชอบแล้วมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเป็นการประเมินผิดประเภทพิกัดเป็นผลให้รับฟังได้ว่า สินค้าพิพาทที่จำเลยที่ 1 นำเข้าจัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 1211.909 ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ประเมิน
ฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าอากรไม่ถูกต้องครบถ้วนโดยมีเจตนาที่หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องเงินอากรที่ขาดจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้นำเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องเงินอากรที่ขาดจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้นำเข้าโดยมิได้มีการหลีกเลี่ยงพยายามหลีกเลี่ยงอากร เมื่อการชำระอากรขาดเกิดจากจำเลยที่ 1 สำแดงประเภทพิกัดของสินค้าไม่ถูกต้องมิใช่เกิดจากจำเลยที่ 1 สำแดงประเภทพิกัดของสินค้าถูกต้องแต่โจทก์คำนวณจำนวนเงินอากรผิด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้า ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่นำของเข้าตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมสังกัดกระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามกฎหมายศุลกากร จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 และนางนันทวัน เป็นหุ้นส่วนเมื่อระหว่างปี 2541 ถึงปี 2544 จำเลยที่ 1 นำเข้าสินค้า “ดอกเก๊กฮวยตากแห้ง” จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยทางเรือ และได้นำสินค้าผ่านพิธีการศุลกากรโดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มรวม 10 ฉบับ สำแดงประเภทพิกัด 1211.902 อัตราอากร 4.20 บาทต่อ 1 กิโลกรัม ต่อมาสำนักงานตรวจสอบอากรของโจทก์ตรวจพบว่าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 10 ฉบับ ดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 1211.909 อัตราอากรร้อยละ 40 ของราคา ซี.ไอ.เอฟ เป็นเหตุให้อากรขาเข้าและอากรพิเศษที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระขาดจำนวนไปรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,655,190 บาท โจทก์ได้แจ้งการประเมินอากรขาเข้าที่ต้องชำระเพิ่มเติมให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านหรืออุทธรณ์การประเมิน หนี้ภาษีตามการประเมินจึงเป็นอันยุติ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีอากรจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 และนางนันทวัน เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวน นางนันทวันถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2546 โดยมีจำเลยที่ 10 ถึงที่ 15 เป็นทายาทของนางนันทวัน จำเลยที่ 10 ถึงที่ 15 จึงมีหน้าที่ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ตามกฎหมายด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันชำระหนี้ค่าภาษีอากรแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,654,190 บาท
จำเลยทั้งสิบห้าให้การว่า สินค้าที่จำเลยที่ 1 นำเข้าตามฟ้องคือ “ยาพรรณไม้เก๊กฮวยมิใช่ผง” ซึ่งจัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 1211.902 เนื่องจากเป็นพรรณไม้ที่ใช้เป็นยารักษาหรือใช้ป้องกันโรค โดยจำเลยที่ 1 สำแดงประเภทพิกัดและชำระอากรขาเข้าในประเภทพิกัดนี้ตลอดมาซึ่งโจทก์ก็ยอมรับโดยไม่เคยทักท้วงหรือโต้แย้งว่าไม่ถูกต้อง ทั้งฝ่ายวิเคราะห์สินค้าของโจทก์ยังได้ทำการวิเคราะห์สินค้าดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จนเป็นที่พอใจว่าเป็นยาพรรณไม้และส่วนของพรรณไม้ตามประเภทพิกัดที่ 1211.902 โดยถูกต้อง จึงได้ปล่อยสินค้าให้จำเลยที่ 1 รับไป สินค้าพิพาทมิได้จัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 1211.909 อันเป็นรายการอื่นๆ นอกจากพรรรณไม้หรือส่วนของพรรณไม้ การประเมินอากรขาเข้าของโจทก์จึงไม่ถูกต้อง ฟ้องโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์เรียกร้องเงินอากรโดยคิดคำนวณเงินอากรขาด จึงมีอายุความ 2 ปี ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคสาม แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่จำเลยที่ 1 นำสินค้าเข้าสำเร็จ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ นอกจากนี้จำเลยที่ 10 ถึงที่ 15 มิได้รับทรัพย์มรดกใดๆ จากเจ้ามรดก จึงไม่มีหน้าที่ต้องร่วมรับผิดในจำนวนเงินตามที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสิบห้า โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 และนางนันทวัน เป็นหุ้นส่วน นางนันทวันถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2546 โดยมีจำเลยที่ 10 เป็นทายาทและผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 11 เป็นมารดา จำเลยที่ 12 เป็นสามี และจำเลยที่ 13 ถึงที่ 15 เป็นบุตรของนางนันทวัน เมื่อระหว่างปี 2541 ถึงปี 2544 จำเลยที่ 1 นำสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มรวม 10 ฉบับ สำแดงว่าสินค้าที่นำเข้าคือยาพรรณไม้เก๊กฮวยมิใช่ผล (CHINESE RAW MEDICINES) ประเภทพิกัด 1211.902 อัตราอากรขาเข้า 4.20 บาทต่อ 1 กิโลกรัม ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 45, 52, 58, 67, 75, 83, 91, 107 และ 116 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยที่ 1 รับไปแล้ว ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่า สินค้าที่จำเลยที่ 1 นำเข้าดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 1211.909 ในฐานะเป็นพรรณไม้และส่วนอื่นๆ ของพรรณไม้ ซึ่งต้องชำระอากรขาเข้าอัตราร้อยละ 40 ของราคาสินค้า เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากรตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 10 ฉบับ ขาดไปเป็นเงินอากรขาเข้า 122,627 บาท 144,772 บาท 121,619 บาท 102,665 บาท 159,801 บาท 211,130 บาท 250,694 บาท 107,426 บาท 176,873 บาท และ 160,742 บาท ตามลำดับ กับต้องชำระอากรพิเศษสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าฉบับที่ 5 ถึงฉบับที่ 9 เป็นเงิน 15,980 บาท 23,738 บาท 27,694 บาท 10,742 บาท และ 17,687 บาท ตามลำดับรวมเป็นเงินอากรขาเข้าและอากรพิเศษที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเพิ่ม 1,654,190 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงมีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 44, 51, 57, 66, 74, 82, 90, 98,106 และ 114 จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินตามใบขนสินค้าขาเข้าฉบับที่ 1 ถึงที่ 3 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2547 ฉบับที่ 4 และที่ 5 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 ฉบับที่ 6 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2547 ฉบับที่ 7 ถึงที่ 9 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 และฉบับที่ 10 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2547 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 64, 65, 73, 81, 97, 105 และ 113 แต่จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และมิได้ชำระค่าอากรตามการประเมิน
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า สินค้าพิพาทที่จำเลยที่ 1 นำเข้าจัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 1211.902 ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ประเมิน เห็นว่า ตามมาตรา 112 ฉ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2543 ผู้นำของเข้ามีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามแบบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน ดังนั้น หากผู้นำเข้าไม่อุทธรณ์ก็ต้องถือว่าผู้นำเข้าพอใจการประเมินการประเมินนั้นย่อมเป็นอันยุติ ผู้นำของเข้าจะนำคดีมาฟ้องเพื่อให้เพิกถอนการประเมินหรือต่อสู้คดีในศาลว่าการประเมินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ เมื่อคดีนี้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้นำของเข้าได้รับหนังสือแจ้งการประเมินโดยชอบแล้วมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเป็นการประเมินผิดประเภทพิกัดเป็นผลให้รับฟังได้ว่า สินค้าพิพาทที่จำเลยที่ 1 นำเข้าจัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 1211.909 ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ประเมิน อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าภาษีอากรขาตามฟ้องแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 และนางนันทวัน เป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามมาตรา 1025 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 และนางนันทวันจึงไม่อาจปฏิเสธว่าหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ซึ่งยุติตามการประเมินแล้วเป็นหนี้ที่ไม่ถูกต้อง แต่เมื่อนางนันทวันถึงแก่ความตายแล้วโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นทายาทและผู้จัดการมรดก และจำเลยที่ 11 ถึงที่ 15 เป็นทายาทของนางนันทวัน จำเลยที่ 10 ถึงที่ 15 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าภาษีอากรจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1737 แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 10 ถึงที่ 15 ต้องรับผิดเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่แต่ละคนได้รับไปเท่านั้น
ปัญหาวินิจฉัยตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบห้ามีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสิบห้าแก้อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรที่ต้องเสียให้แก่โจทก์ กรณีมิใช่เป็นการชำระอากรขาด เพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรอันทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใดๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใดๆ ภายในอายุความ 10 ปี แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินอากรโดยคิดคำนวณเงินอากรขาดจึงมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 เห็นว่า มาตรา 10 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 บัญญัติว่า “เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใดๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใดๆ นั้นให้มีอายุความ 10 ปี แต่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิดให้มีอายุความ 2 ปี ทั้งนี้นับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออก” ในข้อนี้นอกจากจำเลยทั้งสิบห้าจะให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรที่จะต้องเสียให้แก่โจทก์แล้ว ตามฟ้องโจทก์ก็ไม่ได้กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าอากรไม่ถูกต้องครบถ้วนโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรแต่อย่างใด กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องเงินอากรที่ขาดจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้นำของเข้าโดยมิได้มีการหลีกเลี่ยงพยายามหลีกเลี่ยงอากร เมื่อการชำระอากรขาดเกินจากจำเลยที่ 1 สำแดงประเภทพิกัดของสินค้าไม่ถูกต้อง มิใช่เกิดจากจำเลยที่ 1 สำแดงประเภทพิกัดของสินค้าถูกต้องแต่โจทก์คำนวณจำนวนเงินอากรผิด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้าซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่นำของเข้าตามบทบัญญัติดังกล่าวจำเลยที่ 1 นำเข้าสินค้าพิพาทในคดีนี้ระหว่างปี 2541 ถึงปี 2544 เมื่อนับถึงวันที่ 17 มีนาคม 2549 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยประเด็นนี้ว่า โจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล ประเด็นตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบห้าฟังไม่ขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันชำระค่าภาษีอากรจำนวน 1,654,190 บาท แก่โจทก์ เฉพาะจำเลยที่ 10 ถึงที่ 15 ให้รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่แต่ละคนได้รับ กับให้จำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท

Share