แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำเบิกความและบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาตามสายงานอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติมีความน่าเชื่อถือและเป็นกรณีมีหลักฐานปรากฏว่า ว. เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องและเคยเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าบรรดาเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้นั้นมีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะ หรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคสอง เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ จ. ซึ่งเป็นภริยาของ ว. ไม่สามารถแสดงพยานหลักฐานหักล้างได้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า ทรัพย์สินของ จ.เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามบทกฎหมายดังกล่าว
เมื่อปรากฏต่อศาลฎีกาว่า คดีที่ ว. และผู้คัดค้านที่ 2 ถูกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องผู้คัดค้านที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง…” การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ผู้ร้องอ้างว่าเนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมสิ้นสุดลง ศาลย่อมไม่มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินนั้นได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 จึงมีผลขัดต่อกฎหมายดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินของนายวิกูลกับนางจินตนาและทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29 และ 31
ศาลชั้นต้นได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์เข้ามาในคดี
ผู้คัดค้านกับพวกยื่นคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งคืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งริบทรัพย์สินดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้ให้คืนเงินสด 8,000 บาทแก่ผู้คัดค้านที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา (ที่ถูก คำสั่ง) ศาลชั้นต้น
ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ฏีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ว่า เงินสด 8,000 บาท และเงินฝากในบัญชีเงินฝากดังกล่าวตามลำดับเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ ตามพยานหลักฐานพฤติการณ์ของนางจินตนามีเหตุผลเพียงพอให้น่าเชื่อว่า เงินสดจำนวน 8,000 บาท นี้เป็นเงินที่นางจินตนาได้รับจากการขายสุกรก่อนถูกยึด และมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้คืนเงินจำนวนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น ส่วนเงินฝากตามบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกาขอให้ไม่ริบนั้น เห็นว่า ตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกชัยรัตน์ได้ความว่า ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2541 พยานสืบทราบว่า ผู้คัดค้านที่ 2 และนายวิกูลมีพฤติการณ์จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน โดยผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จำหน่ายรายใหญ่และนายวิกูลเป็นคนช่วยติดต่อลูกค้า และพยานได้ทำบันทึกรายงานข้อมูลที่สืบทราบต่อผู้บังคับบัญชาไว้ด้วยซึ่งพยานหลักฐานนี้เห็นได้ว่า มีคำเบิกความและบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาตามสายงานอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติ ที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นกรณีมีหลักฐานปรากฏว่า นายวิกูล เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องและเคยเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อนต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าบรรดาเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้นั้นมีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริตเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคสอง ประกอบกับตามคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 1 ก็ได้ความว่า นางจินตนาอยู่กินฉันสามีภริยากับนายวิกูลมาประมาณ 10 ปี โดยผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความในปี 2546 จึงฟังได้ว่า นางจินตนาเป็นภริยานายวิกูลมาก่อนปี 2540 และตามบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของนางจินตนาตั้งแต่ช่วงปี 2541 ตลอดมา ปรากฏว่ามีรายการฝากเงินเข้าบัญชีหลายครั้งและเกือบทุกเดือน และมีหลายเดือนที่มีรายการฝากเงิน 2 ถึง 3 ครั้ง จำนวนเงินฝากมีตั้งแต่ครั้งละ 2,000 บาท ถึง 60,000 บาท และเคยมีจำนวนเงินฝากในบัญชีสูงเกิน 100,000 บาท หลายครั้ง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้จากการประกอบอาชีพของนางจินตนาดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าจะมีเงินรายได้นำเข้าฝากในบัญชีได้เช่นนั้น และโดยเฉพาะที่ผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความว่า นางจินตนามีอาชีพให้กู้ยืมเงินด้วย ก็เป็นคำเบิกความกล่าวอ้างลอยๆ และผู้คัดค้านที่ 1 ที่เป็นผู้จัดการมรดกนางจินตนาก็เบิกความว่า ไม่พบหลักฐานที่นางจินตนาให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงิน ย่อมฟังไม่ได้ว่า นางจินตนามีรายได้จากการให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงิน และเห็นได้ว่าเงินฝากในบัญชีของนางจินตนามีจำนวนเงินสูงเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพโดยสุจริตของนางจินตนาและนายวิกูลที่จะพึงมีได้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น โดยผู้คัดค้านที่ 1 ไม่สามารถแสดงพยานหลักฐานหักล้างได้ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ริบเงินฝากดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ด้วยปรากฏต่อศาลฎีกาว่า คดีอาญาที่นายวิกูลและผู้คัดค้านที่ 2 ถูกฟ้องศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องสำหรับผู้คัดค้านที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071/2549 กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง…” การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ผู้ร้องอ้างว่าเนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมสิ้นสุดลง ศาลย่อมไม่มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินนั้นได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 จึงมีผลขัดต่อกฎหมายดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้ ให้คืนทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ตามคำร้องรวม 4 รายการ แก่ผู้คัดค้านที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8