แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สิทธิแห่งสภาพบุคคลหมายถึงสิทธิดังเช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 2. ซึ่งในส่วนที่ 1 ก็ใช้คำว่า “สภาพบุคคล” เช่นเดียวกัน
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค 2 และจำเลยที่ 2 เป็นผู้รักษาการแทนสังฆนายก โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 บังคับให้สึกจากพระภิกษุ และเมื่อสึกแล้วจำเลยที่ 2 ได้สั่งห้ามมิให้โจทก์อุปสมบท การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดสิทธิโจทก์ ดังนี้ ไม่ใช่เป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิตามสภาพบุคคล โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงไม่ได้
สำหรับจำเลยที่ 1 แม้จะบอกให้โจทก์สึก แต่โจทก์ก็ยอมสึกเอง จะว่าจำเลยที่ 1 ลงทัณฑกรรมแก่โจทก์ไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ห้ามไม่ให้อุปัชฌาย์อุปสมบทให้โจทก์นั้น ไม่มีกฎหมายบังคับว่า ถ้าโจทก์จะบวชคณะสงฆ์จะต้องยอมให้บวช หรืออุปัชฌาย์จะต้องบวชให้ ฉะนั้นจึงเป็นสิทธิของคณะสงฆ์และผู้เป็นอุปัชฌาย์ที่จะยอมรับให้บวชหรือจะบวชให้หรือไม่ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นละเมิดตามมาตรา 420 และทั้งไม่เข้าตามมาตรา 421,422ด้วย
อนึ่งจะว่าคำสั่งจำเลยที่ 2 เป็นการเพิ่มทัณฑกรรมอันขัดต่อพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 มาตรา 23 และประมวลระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์มาตรา 107 ก็ไม่ได้เพราะประการแรกคำแนะนำของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นการลงทัณฑกรรมดังกล่าว คำสั่งของจำเลยที่ 2 ก็เป็นการเพิ่มทัณฑกรรมไม่ได้ ประการที่ 2 มาตรา 23 และมาตรา 107 ดังกล่าวเป็นบทบัญญัติสำหรับสงฆ์ เมื่อโจทก์ได้สึกจากสมณะเพศแล้วคำสั่งของจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เป็นการลงทัณฑ์กรรมตามกฎหมายนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์บวชเป็นพระภิกษุ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค 2 และจำเลยที่ 2 เป็นผู้รักษาการแทนสังฆนายก โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 บังคับให้สึกจากพระภิกษุ และเมื่อสึกแล้วจำเลยที่ 2 ได้สั่งห้าม ไม่ให้โจทก์อุปสมบท การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการตัดสิทธิ และละเมิดสิทธิ จึงขอให้ศาลแสดงว่าการกระทำและคำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพิกถอนประกาศห้ามไม่ให้รับอุปสมบทและประกาศคำพิพากษาในแถลงการณ์คณะสงฆ์กับเรียกค่าสินไหมทดแทน จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ประพฤติคลุกคลีกับมาตุคามจนเป็นที่น่ารังเกียจและไม่เป็นที่น่าไว้ใจต่อความบริสุทธิ์แห่งความเป็นสมณะ ทั้งได้ละเมิดระเบียบประเพณีของคณะสงฆ์และขัดคำสั่งของจำเลย ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา จำเลยพร้อมด้วยคณะสงฆ์ในจังหวัดสุพรรณบุรีประชุมพิจารณาลงมติเป็นเอกฉันท์ให้โจทก์ลาจากสมณะเพศ โจทก์ได้ยินยอมและสึกไปแล้ว จำเลยที่ 2 ให้การว่า การที่จำเลยสั่งห้ามอุปัชฌาย์มิให้รับอุปสมบทโจทก์ก็โดยจำเลยได้รับรายงานและด้วยความเห็นชอบของสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองทั้งจำเลยก็ได้พิจารณาเห็นเป็นการสมควร
จำเลยทั้งสองให้การต้องกันว่า กรณีของโจทก์ที่ต้องสึกและต้องสั่งห้ามไม่ให้อุปสมบทนี้ ไม่ใช่อธิกรณ์ตามกฎหมายจึงไม่จำเป็นต้องทำโดยคณะวินัยธร แต่เป็นกรณีความผิดเฉพาะหน้าผู้บังคับบัญชาย่อมปฏิบัติจัดทำได้ตามพระธรรมวินัย และขนบประเพณีของคณะสงฆ์
ศาลแพ่งพิพากษาว่า การที่จำเลยที่ 1 กระทำไปตามมติที่ประชุมและโจทก์ก็ได้ยินยอมปฏิบัติตาม จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะกลับมารื้อร้องจำเลยที่ 1 สำหรับคำสั่งของสำหรับคำสั่งของจำเลยที่ 2 ก็ไม่เกี่ยวข้องกับอธิกรณ์จึงไม่ต้องผ่านคณะวินัยธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า เป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล โจทก์ไม่ได้กระทำผิดดังจำเลยที่ 1 ชี้ขาดจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจลงทัณฑกรรมให้สึก โจทก์ไม่ได้สึกโดยสมัครใจ แต่สึกเพราะถูกบังคับตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตรา 23 ก็ดี ตามประมวลระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ มาตรา 107 ก็ดี ได้กำหนดทัณฑกรรมไว้สูงสุด คือให้สึกและห้ามอุปสมบทสถานที่ 2 ก็คือให้สึก ถ้าจะลงสถานที่ 1 ต้องพร้อมกัน จำเลยที่ 1 จึงลงทัณฑ์กรรมสถานที่ 1 แต่จำเลยที่ 2กลับสั่งเพิ่มห้ามไม่ให้อุปสมบทโดยไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้อำนาจแก่จำเลยไว้ และแม้ประกาศนั้นเพียงแต่ห้ามอุปัชฌาย์มิให้รับอุปสมบท ไม่ใช่ห้ามอุปสมบทโดยตรงก็ตาม ก็มีผลเป็นการตัดสิทธิของโจทก์อยู่นั่นเอง เป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้จะฎีกาในข้อเท็จจริงไม่ได้ แต่โจทก์อ้างว่าเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล ต้องด้วยข้อยกเว้นคำว่า สิทธิแห่งสภาพบุคคล นี้ไม่ได้หมายถึงสิทธิที่บุคคลมีอยู่โดยที่มีสภาพเป็นบุคคล มิฉะนั้นแล้ว สิทธิอะไรก็เป็นสิทธิแห่งสภาพบุคคลทั้งนั้น เพราะบุคคลเท่านั้นจะเป็นเจ้าของสิทธิได้สิทธิจึงเป็นเรื่องของบุคคลโดยเฉพาะ คดีทุกเรื่องจะเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลทั้งหมดไม่มีประโยชน์อะไรที่จะบัญญัติมาตรา 248 และตั้งข้อยกเว้นไว้ให้ฎีกาในข้อเท็จจริงได้ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล อีกประการหนึ่ง มาตรา 248 ใช้คำว่า คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล และสิทธิในครอบครัว ถ้าแปลว่าสิทธิแห่งสภาพบุคคลเป็นสิทธิทุกอย่างที่บุคคลมีอยู่ เพราะเป็นบุคคลแล้ว ก็รวมถึงสิทธิในครอบครัวด้วยอยู่ในตัว ไม่จำต้องบัญญัติแยก ศาลฎีกาเห็นว่าสิทธิแห่งสภาพบุคคลในทีนี้ หมายถึงสิทธิดังเช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 2 ซึ่งในส่วนที่ 1 ใช้คำว่า “สภาพบุคคล” เช่นเดียวกันเมื่อเป็นเช่นนี้คดีนี้ จึงไม่เป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล
สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น แม้จำเลยที่ 1 จะบอกให้โจทก์สึก แต่โจทก์ก็ยอมสึกเอง ฉะนั้น จะว่าจำเลยที่ 1 ลงทัณฑกรรมแก่โจทก์ไม่ได้ส่วนจำเลยที่ 2 โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ละเมิดสิทธิ โจทก์ในการที่ห้ามไม่ให้อุปัชฌาย์อุปสมบทให้โจทก์ ปัญหาจึงมีว่าโจทก์มีสิทธิจะให้อุปัชฌาย์บวช ซึ่งจำเลยจะขัดขวางไม่ได้หรือไม่นั้น ตามกฎหมายโจทก์ย่อมมีสิทธิจะบวชได้ แต่ไม่มีบทกฎหมายใดบังคับว่า ถ้าโจทก์หรือใครจะบวชแล้ว คณะสงฆ์จะต้องยอมให้บวชหรืออุปัชฌาย์จะต้องบวชใช้ คณะสงฆ์ก็ดี อุปัชฌาย์ก็ดี จะยอมให้ผู้นั้นบวช หรือจะบวชให้หรือไม่ เป็นสิทธิของคณะสงฆ์ หรือผู้เป็นอุปัชฌาย์ ที่จะเป็นละเมิดจะต้องเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมาย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420) การที่คณะสงฆ์ไม่ยอมให้บวชอุปัชฌาย์ไม่บวชให้ก็ดีเป็นการกระทำภายในสิทธิที่มีอยู่ และไม่เป็นการใช้สิทธิชนิดที่”มีแต่จะเกิดการเสียหายแก่บุคคลอื่น” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 และไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมายใดตามความในมาตรา 422 คณะสงฆ์ไม่ยอมให้บวชหรืออุปัชฌาย์ไม่ยอมบวชให้โจทก์ ก็ถือว่าการไม่ยอมให้บวชหรือการไม่บวชให้นั้นเป็นการละเมิดสิทธิโจทก์ไม่ได้ และเมื่อการนั้นไม่เป็นการละเมิดแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สั่งก็ไม่ถือว่าได้ละเมิดสิทธิของโจทก์ จะว่าคำสั่งของจำเลยที่ 2 เป็นการเพิ่มทัฌฑกรรมอันขัดต่อเจตนารมย์ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 23 และประมวลระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์มาตรา 107 จึงใช้ไม่ได้ดังโจทก์ว่าก็ไม่ได้ เพราะประการแรกคำแนะนำของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นการลงทัณฑกรรมดังกล่าวแล้วคำสั่งของจำเลยที่ 2 ก็เป็นการเพิ่มทัณฑกรรมไม่ได้ ประการที่ 2 มาตรา 23 และมาตรา 107 ดังกล่าวเป็นบทบัญญัติสำหรับสงฆ์ จำเลยที่ 2 ออกคำสั่งไม่ให้อุปสมบทให้โจทก์ เมื่อโจทก์ได้สึกจากสมณะเพศแล้ว จึงไม่ใช่เป็นการลงทัณฑกรรมตามกฎหมายนั้น
พิพากษายืน