คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4698/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองซึ่งไม่ได้ทำต่อหน้าพยาน 2 คนพร้อมกัน เป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1658 (1) ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลนั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงความเหมาะสมเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก แม้ผู้ร้องจะไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แต่ผู้ร้องนำพินัยกรรมซึ่งเป็นโมฆะมายื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกย่อมทำให้เป็นที่หวาดระแวงแก่ผู้คัดค้านและทายาทอื่นในการรักษาผลประโยชน์ในทรัพย์สินให้แก่ทายาทของเจ้ามรดก ผู้ร้องจึงไม่เหมาะสมในการเป็นผู้จัดการมรดก

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางชวน ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนายคลอน ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายคลอน ผู้ตายกับนางเวือง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 5 คน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2544 ผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุโรคชรา ก่อนตายผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือ เงินฝากในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาสุรินทร์ จำนวน 43,000.18 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 123484 ถึง 123486 ตำบลเทนมีย์ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ และที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 571 ตำบลเทนมีย์ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โดยผู้ตายเป็นเจ้าของร่วมกับบุคคลอื่น เฉพาะส่วนที่ผู้ตายเป็นเจ้าของคิดเป็นเนื้อที่ 7 ไร่เศษ
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคสอง บัญญัติถึงการตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีที่มีข้อกำหนดพินัยกรรมโดยกำหนดให้ศาลต้องตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม เมื่อคดีนี้ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ผู้ร้องกับนายเพลือง และผู้คัดค้านคัดค้านพินัยกรรม ว่าข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นโมฆะและผู้มีชื่อในพินัยกรรมคบคิดกันฉ้อฉลหลอกลวงผู้ตายให้ทำพินัยกรรมในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ซึ่งหากพินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมที่ผู้ร้องใช้กลฉ้อฉลให้ผู้ตายทำขึ้น ผู้ร้องอาจถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606 (4) และอาจเป็นเหตุให้ไม่สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตรงกันข้ามถ้าพินัยกรรมนั้นสมบูรณ์มีผลบังคับทรัพย์มรดกทั้งหมดของผู้ตายตามพินัยกรรมย่อมตกได้แก่ผู้ร้องและนายเพลืองเท่านั้นผู้คัดค้านย่อมไม่มีส่วนได้เสียและไม่มีสิทธิคัดค้าน ดังนั้น ปัญหาที่ว่าพินัยกรรมตามคำร้องมีผลบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องวินิจฉัยประกอบกับประเด็นที่ว่า สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ผู้ร้องมีนายเคลย เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 พยานได้ไปเยี่ยมผู้ตายที่โรงพยาบาลสุรินทร์ ผู้ตายกำชับพยานให้ไปติดต่อปลัดอำเภอเมืองสุรินทร์ให้มาทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้บุตรสองคน พยานแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่ว่าการอำเภอทราบ เจ้าหน้าที่แนะนำว่าหากผู้ตายไม่สามารถดำเนินการที่ว่าการอำเภอได้ ให้นำหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นที่ดินหรือเงินสด รวมทั้งกรณีถ้าผู้ทำพินัยกรรมอายุเกินกว่า 60 ปี ให้แพทย์รับรองด้วยว่าผู้ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์และให้เตรียมพยาน 2 คน เพื่อรับรองพินัยกรรมด้วย หลังจากนั้นในวันรุ่งขึ้นพยานจึงได้นำหลักฐานสมุดเงินฝาก สำเนา น.ส.3 ทั้งสองฉบับ และใบรับรองแพทย์จากผู้ตายไปที่ว่าการอำเภอเมืองสุรินทร์ เมื่อไปถึงพบนายธนิต ปลัดอำเภอ แจ้งความประสงค์ของผู้ตายให้ทราบ เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่แจ้งให้พยานไปรอที่โรงพยาบาลในช่วงบ่าย เมื่อนายธนิตและนางรุ่งอรุณซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของที่ว่าการอำเภอเมืองสุรินทร์ไปถึงโรงพยาบาลพบผู้ตายได้สอบถามความประสงค์ของผู้ตายและอ่านข้อความในพินัยกรรมให้ผู้ตายฟัง แล้วนายธนิตให้ผู้ตายพิมพ์ลายนิ้วมือโดยมีนายญาติ และนายจักรกฤษ ลงลายมือชื่อรับรองพินัยกรรม พร้อมทั้งมีนางสำเปา และนางแสงระวี ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ตายด้วย เมื่อนายธนิตดำเนินการเสร็จแล้วได้มอบใบรับพินัยกรรมให้พยานไว้และมีนายธนิตปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอเมืองสุรินทร์เบิกความว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544 พยานเดินทางไปที่โรงพยาบาลสุรินทร์พบผู้ตาย พยานได้สอบถามผู้ตายว่ายกทรัพย์สินอะไรให้ใคร ถ้าตรงกับที่ระบุไว้ในพินัยกรรมก็จะอ่านให้ฟัง แล้วให้ลงลายมือชื่อ ซึ่งผู้ตายได้พิมพ์ลายนิ้วมือโดยมีพยานรับรอง 2 คน นอกจากนี้ยังมีนายจักรกฤษ และนางแสงระวี พยานผู้ร้องเบิกความในทำนองเดียวกันว่า พินัยกรรมทำขึ้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544 ที่โรงพยาบาลสุรินทร์ โดยนายธนิตเป็นผู้ทำพินัยกรรม ส่วนผู้คัดค้านเบิกความว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2544 ผู้ตายมีอาการปวดท้องจุกเสียด พยานจึงนำตัวผู้ตายเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์ซึ่งแพทย์ให้ความเห็นว่าระดับการรู้สึกสับสนและมีความกังวลใจเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาตัว หลังจากนั้น 1 วัน แพทย์ได้ตรวจดูอาการปรากฏว่าผู้ตายป่วยเป็นโรคมะเร็งในถุงน้ำดีจะต้องรับการผ่าตัดซึ่งผู้ตายได้ลงลายมือชื่อด้วยตนเองในคำรับรองยินยอมให้แพทย์ทำการผ่าตัด โดยปกติผู้ตายจะลงลายมือชื่อด้วยตนเองไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ในการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินของผู้ตาย ผู้ตายจะเขียนชื่อของตนเองในเอกสารต่างๆ พยานเคยได้ยินผู้ตายพูดกับนายเคลยเกี่ยวกับเรื่องเงินฝากเท่านั้นว่าจะหาคนมาจัดการเพื่อที่จะดำเนินการถอนเงินฝากมาเป็นค่ารักษาพยาบาลได้ และในวันที่ผู้ตายเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลผู้ตายนำเพียงสมุดเงินฝากมาเท่านั้นไม่ได้นำเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดินมาด้วย และมีนางเวือง ภริยาผู้ตายและเป็นมารดาผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นพยานเบิกความว่าขณะที่พยานไปเยี่ยมผู้ตายที่โรงพยาบาลพบกับนายเคลยและได้ยิน ผู้ตายพูดปรึกษาหารือกับนายเคลยเรื่องที่จะถอนเงินฝากในบัญชี ส่วนเรื่องอื่นพยานไม่ได้ยินหลังจากพยานกลับจากโรงพยาบาลประมาณ 10 วัน ผู้ร้องมาที่บ้านและขอกุญแจตู้เก็บเอกสารสำคัญโดยบอกว่าจะเปิดเอาเช็คซึ่งบุตรสาวผู้ร้องฝากผู้ร้องไว้ เมื่อพยานให้กุญแจผู้ร้องไปแล้วก็ไม่นำกุญแจมาคืน มาคืนอีกทีเมื่อเสร็จงานศพของผู้ตายแล้ว ต่อมาทราบว่าเอกสารเกี่ยวกับที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์จำนวน 4 แปลง ทะเบียนสมรส ใบมรณบัตรและทะเบียนบ้านได้หายไป พยานไปขอเอกสารดังกล่าวคืนจากผู้ร้องแต่ผู้ร้องไม่ยอมคืนให้ และผู้ตายไม่เคยพูดปรึกษาหารือกับพยานเกี่ยวกับเรื่องทำพินัยกรรม เห็นว่า เมื่อพิเคราะห์ตามพินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ตายได้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนั้น เป็นพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ซึ่งในพินัยกรรมนั้นนอกจากระบุไว้ว่าทำต่อหน้าพยานคือนายญาติ และนายจักรกฤษ จำนวน 2 คน แล้ว ยังระบุอีกว่านายธนิต ปลัดอำเภอเมืองสุรินทร์ซึ่งทำหน้าที่แทนนายอำเภอได้ทำบันทึกต่อท้ายพินัยกรรมนี้ไว้ว่าได้จดและอ่านข้อความที่ทำพินัยกรรมขึ้นนั้นให้ผู้ตายและพยานฟัง ผู้ตายและพยานได้รับรองข้อความว่าถูกต้องและลงลายมือชื่อในพินัยกรรมด้วย แต่กลับได้ความจากนายญาติ พยานผู้ร้องเบิกความว่าพยานเป็นลูกจ้างประจำโรงพยาบาลสุรินทร์ นายเคลย เป็นผู้ยื่นเอกสารให้พยานลงลายมือชื่อ ส่วนใครจะเป็นผู้ทำพินัยกรรมและทำพินัยกรรมยกอะไรให้ใครพยานไม่ทราบ พยานลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าเท่านั้น และยังได้ความจากพยานเบิกความตอบคำถามค้านของทนายผู้คัดค้านยืนยันอีกว่า ในวันที่พยานลงลายมือชื่อในพินัยกรรม พยานไม่ทราบว่านายธนิตจะอยู่ด้วยหรือไม่ และนายเคลยยื่นเอกสารให้พยานลงลายมือชื่อที่ชั้นบนตรงระเบียงด้านนอกห้องผู้ป่วยโดยนายเคลยบอกว่าให้พยานลงลายมือชื่อเป็นพยานว่าผู้ตายป่วยและได้มารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนี้จริง พยานลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ในเวลาไม่เกินเที่ยงวันขณะที่ลงลายมือนั้น พยานไม่เห็นลายพิมพ์นิ้วมือของใครในเอกสารดังกล่าวและไม่เห็นข้อความในเอกสารด้วย ซึ่งหากนายเคลยบอกว่าเอกสารดังกล่าวเป็นพินัยกรรม พยานคงไม่ยินยอมลงลายมือชื่อเนื่องจากพยานเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับพยาน นอกจากนี้ยังได้ความจากนายเคลย พยานผู้ร้องเบิกความว่า เมื่อพยานไปถึงที่ว่าการอำเภอพบนายธนิตปลัดอำเภอได้นำพยานหลักฐานทั้งหมดให้นายธนิตและแจ้งความประสงค์ของผู้ตายให้ทราบ นางรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เป็นผู้พิมพ์ข้อความแล้วแจ้งให้พยานไปรอช่วงบ่ายที่โรงพยาบาลแต่กลับได้ความจากพยานเบิกความตอบคำถามค้านของทนายผู้คัดค้านว่า นายธนิตเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมแล้วบอกให้พยานกลับไปรอที่โรงพยาบาล ในขณะที่นายจักรกฤษและนางแสงระวีเบิกความในทำนองเดียวกันว่านายธนิตเป็นผู้ทำพินัยกรรมขึ้นที่โรงพยาบาล หากบุคคลทั้งสามอยู่ร่วมด้วยในขณะทำพินัยกรรมก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องเบิกความไปในทำนองเดียวกัน แต่พยานทั้งสามกลับเบิกความแตกต่างกันในส่วนของผู้พิมพ์พินัยกรรม จึงทำให้มีพิรุธว่าพินัยกรรมทำขึ้นที่ที่ว่าการอำเภอโดยนางรุ่งอรุณเป็นผู้พิมพ์หรือทำขึ้นที่โรงพยาบาลโดยนายธนิตเป็นผู้พิมพ์ ทั้งผู้ร้องมิได้นำนางรุ่งอรุณมาเบิกความให้เห็นข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ยังได้ความจากนายจักรกฤษ พยานผู้ร้องเบิกความตอบคำถามค้านของทนายผู้คัดค้านอีกว่าในวันที่มีการทำพินัยกรรมนั้นพินัยกรรมไม่ได้ระบุให้ผู้ร้องและนายเพลือง เป็นผู้รับประโยชน์ แต่พินัยกรรมระบุให้บุคคลทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งในข้อนี้ก็ขัดกับพินัยกรรมที่ระบุว่าให้ยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องและนายเพลืองและให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ซึ่งหากนายจักรกฤษเป็นพยานในพินัยกรรมจริงนายจักรกฤษย่อมต้องทราบความประสงค์ของผู้ตายในพินัยกรรม เมื่อพยานผู้ร้องเบิกความแตกต่างกันเช่นนี้ ข้อความที่ว่าใครเป็นผู้ทำพินัยกรรมหรือเป็นผู้รู้เห็นในขณะผู้ตายทำพินัยกรรมจึงขัดแย้งกัน ด้วยเหตุนี้พยานหลักฐานของผู้ร้องในประเด็นนี้จึงไม่มีน้ำหนักไม่น่าเชื่อถือ เพราะถ้านายธนิตอ่านข้อความในพินัยกรรมให้ผู้ตายฟังต่อหน้าพยานที่ระบุในพินัยกรรมจริง นายจักรกฤษซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมและนายญาติซึ่งเป็นพยานคนหนึ่งก็คงต้องคัดค้านเป็นแน่ เมื่อพิเคราะห์ตามรูปคดีและพยานหลักฐานของผู้ร้องที่นำสืบมาทำให้มีเหตุผลน่าเชื่อได้ว่าพินัยกรรมนี้ไม่ได้ทำต่อหน้าพยาน 2 คน จึงเป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 (1) และส่งผลให้พินัยกรรมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 และเห็นว่าการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลนั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงความเหมะสมเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกด้วย ถึงแม้ผู้ร้องจะไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องนำพินัยกรรมซึ่งเป็นโมฆะมายื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกในคดีนี้ย่อมทำให้เป็นที่หวาดระแวงแก่ผู้คัดค้านและทายาทอื่นในการรักษาผลประโยชน์ในทรัพย์สินให้แก่ทายาทของเจ้ามรดก ผู้ร้องจึงไม่เหมาะสมในการเป็นผู้จัดการมรดกในคดีนี้ เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของผู้ร้องอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share