คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 330/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดที่เกิดจากการกระทำอันเป็นการอุปการะความผิดฐานลักทรัพย์หรือความผิดอื่นดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 357 เช่น ช่วย ซื้อ จำหน่าย หรือรับไว้โดยประการอื่นใด ความผิดฐานรับของโจรจึงต้องเกิดหลังจากมีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า การกระทำความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นก่อนย่อมเป็นคำฟ้องที่ขัดต่อสภาพและลักษณะของการกระทำความผิดอย่างชัดเจน จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 334, 335, 357, 83
จำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก ลงโทษจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรตามคำรับสารภาพได้หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องข้อ 1 เกี่ยวกับความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์บรรยายว่า “เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2546 เวลากลางวันได้มีคนร้ายบังอาจลักเอารถจักรยานยนต์ 1 คัน … ของนางมณิดา รัชมาศหรือแก้วพิกุลผู้เสียหายไป…” แต่ในคำฟ้องข้อ 2 ความผิดฐานรับของโจร โจทก์กลับบรรยายว่า “ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานตรวจยึดรถของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ขณะที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยเป็นของกลาง… เมื่อระหว่างวันและเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ถึงวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 2 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลย… บังอาจร่วมกันรับของโจร โดยร่วมกันรับเอาของกลาง ซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้เสียหาย ซึ่งถูกคนร้ายลักไปดังกล่าวในฟ้องข้อ 1…” ซึ่งความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดที่เกิดจากการกระทำอันเป็นการอุปการะความผิดฐานลักทรัพย์หรือความผิดอื่นดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 357 เช่น ช่วย ซื้อ จำหน่าย หรือรับไว้โดยประการอื่นใด เป็นต้น ความผิดฐานรับของโจรจึงต้องเกิดหลังจากมีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์รถจักรยานยนต์เกิดขึ้นแล้ว เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า การกระทำความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นก่อนย่อมเป็นคำฟ้องที่ขัดต่อสภาพและลักษณะของการกระทำความผิดอย่างชัดเจน จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ แม้จำเลยจะมิได้ยกความข้อนี้ขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาก็ยกขึ้นพิจารณาวินิจฉัยได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

Share