แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมีโฉนด ซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ในเบื้องต้นต้องสันนิษฐานว่าโจทก์เป็นเจ้าของมีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินดังกล่าวเมื่อจำเลยรับว่าเช่าที่ดินพิพาทอันเป็นที่ดินบางส่วนของโฉนดดังกล่าวจากโจทก์โจทก์ได้บอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าแล้วจำเลยจึงไม่มีสิทธิอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทได้ ที่จำเลยจะขอนำสืบข้อเท็จจริงที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งแห่งที่ธรณีสงฆ์วัด ต. (ร้าง) ซึ่งเป็นบุคคลที่สามจึงไม่จำเป็นเพราะที่ดินพิพาทจะเป็นส่วนหนึ่งแห่งที่ธรณีสงฆ์หรือไม่ เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบุคคลผู้มีอำนาจดูแลที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๘๗๖ จำเลยที่ ๑ เป็นสามีจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ เป็นสามีภริยากันและเป็นบิดามารดาจำเลยที่ ๒ กับที่ ๕ เดิมจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ เช่าที่ดินแถบตะวันออกของที่ดินโฉนดดังกล่าวเพื่ออยู่อาศัยโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ ได้บอกกล่าวเลิกการเช่าให้จำเลยกับบริวารออกไป แต่จำเลยเพิกเฉยจึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยทั้งห้าให้การว่า ที่ดินที่โจทก์ฟ้องขับไล่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์ความจริงเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดตลุ่ม (ร้าง) ซึ่งผู้ใดจะนำไปออกโฉนดที่ดินไม่ได้ เมื่อหลายปีมานี้นายลำมาได้เอาที่ธรณีสงฆ์ของวัดตลุ่ม (ร้าง) นี้ไปออกโฉนด ต่อมานายลำมาตายจึงตกเป็นของนายหยด นายหยดจึงนำที่ดินดังกล่าวมาให้จำเลยเช่า จำเลยหลงเชื่อว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของนายหยดจริง จึงยอมทำสัญญาเช่า เมื่อนายหยดตายที่ดินจึงตกเป็นของโจทก์ ขณะนี้กรมการศาสนากำลังดำเนินการตรวจสอบหลักฐานเพื่อเพิกถอนโฉนดอยู่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า ประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายส่วนประเด็นเรื่องค่าเสียหายโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้อง คดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินตามฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ และที่ ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ และที่ ๕ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและวิธีพิจารณา นั้น ปรากฏว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งแห่งที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๘๗๖ ของโจทก์ จำเลยทั้งห้าก็ให้การรับว่าเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์จริง ส่วนที่จำเลยทั้งห้ายกข้อต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินธรณีสงฆ์วัดตลุ่ม (ร้าง) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งแห่งที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๘๗๖ ซึ่งมีชื่อโจทก์ทั้งห้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ในเบื้องต้นต้องสันนิษฐานว่า โจทก์เป็นเจ้าของมีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินดังกล่าว เมื่อจำเลยทั้งห้ารับว่าเช่าที่ดินพิพาท อันเป็นที่ดินบางส่วนของโฉนดดังกล่าวจากโจทก์ทั้งห้า โจทก์ทั้งห้าได้บอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าแล้ว จำเลยทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทได้ ที่จำเลยทั้งห้าจะขอนำสืบข้อเท็จจริงที่ว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งแห่งที่ธรณีสงฆ์วัดตลุ่ม (ร้าง) ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม จึงไม่จำเป็น เพราะที่ดินพิพาทจะเป็นส่วนหนึ่งแห่งที่ธรณีสงฆ์หรือไม่เป็นเรื่องระหว่าง โจทก์กับบุคคลผู้มีอำนาจดูแลที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งห้าศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน