คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 469/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การส่งคำคู่ความ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 25,31ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 76 วรรคแรก นอกจากเป็นบทบัญญัติที่มุ่งประสงค์ป้องกันความเสียหายอันเกิดจากการเอารัดเอาเปรียบในการส่งคำคู่ความและเอกสารนั้น แล้วยังเป็นบทบัญญัติให้ความคุ้มครองว่าการส่งคำคู่ความหรือเอกสารนั้นจะต้องถึงผู้รับโดยถูกต้องจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการไว้เช่นนั้น เมื่อได้ความว่าหลังจากเจ้าพนักงานศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว จำเลยได้แต่งทนายความมาต่อสู้คดี และดำเนินกระบวนพิจารณา จนมีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความจนศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอมแล้วแสดงว่าการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยจำเลยได้รับทราบและมาตามนัดของศาลแล้ว แม้การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องดังกล่าวจะมีบุคคลอายุไม่เกินยี่สิบปี ซึ่งทำงานเป็นพนักงานของจำเลยเป็นผู้รับไว้ ก็หาทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเพราะเหตุนี้ไม่ ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยมายื่นคำร้องภายหลังศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาแล้วซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27.

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 13
โจทก์ทั้งสิบสามสำนวนได้ฟ้องจำเลยให้จ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสิบสามโดยให้จำเลยนำเงินมาวางที่ศาล
จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยได้ตรวจพบว่า นางสาวกสมา ภักดีผู้ที่ลงชื่อรับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสามไว้แทนจำเลย อายุไม่ครบ 20 ปี การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องของโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลนับแต่การพิจารณา สืบพยานพิพากษาและการบังคับคดีย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า แม้จำเลยจะอ้างว่าการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไม่ชอบ แต่จำเลยก็ได้ทราบคำฟ้องและเข้าต่อสู้คดีจนศาลพิพากษาตามยอมแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 25 ที่บัญญัติว่า”การส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดไปยังคู่ความในคดีแรงงานให้กระทำโดยเจ้าพนักงานศาล…” ก็ดีและตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 76 วรรคแรกที่บัญญัติว่า “เมื่อเจ้าพนักงานศาลไม่พบคู่ความหรือบุคคลที่จะส่งคำคู่ความหรือเอกสาร ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลนั้น ๆ ถ้าได้ส่งคำคู่ความหรือเอกสารให้แก่บุคคลใด ๆที่มีอายุเกินยี่สิบปีซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนที่สำนักทำการงานที่ปรากฏว่าเป็นของคู่ความหรือบุคคลนั้น… ให้ถือว่าเป็นการเพียงพอที่จะฟังว่าได้มีการส่งคำคู่ความหรือเอกสารถูกต้องตามกฎหมายแล้ว…”ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ให้นำมาใช้บังคับในศาลแรงงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม ก็ดี นอกจากเป็นบทบัญญัติที่มุ่งประสงค์ป้องกันความเสียหายอันเกิดจากการเอารัดเอาเปรียบในการส่งคำคู่ความและเอกสารนั้นแล้ว ยังเป็นบทบัญญัติให้ความคุ้มครองว่าการส่งคำคู่ความหรือเอกสารนั้น จะต้องถึงผู้รับโดยถูกต้องจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการไว้เช่นนั้น เมื่อข้อเท็จจริงในคดีได้ความว่า หลังจากเจ้าพนักงานศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว จำเลยได้แต่งทนายความมายื่นคำให้การต่อสู้คดีและดำเนินกระบวนพิจารณาไปจนมีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความจนศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอมเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2535แล้ว แสดงว่าการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย จำเลยได้รับทราบและมาตามนัดของศาลแล้ว แม้การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องดังกล่าวจะมีบุคคลอายุไม่เกินยี่สิบปีซึ่งทำงานเป็นพนักงานของจำเลยเป็นผู้รับไว้ก็หาทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเพราะเหตุนี้ไม่ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยมายื่นคำร้องภายหลังศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาแล้ว ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27ที่ศาลแรงงานกลางยกคำร้องของจำเลยชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share