คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6676/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรจากจำเลยตามแบบ ค.10 ที่จำเลยกำหนดไว้ แต่ต่อมาจำเลยพบว่าโจทก์ได้รับค่าภาษีอากร เกินไปจำนวน 5,497,022.41 บาท จึงได้มีหนังสือแจ้งให้ ส่งคืนภาษีอากรผิดพลาดดังกล่าว แม้หนังสือแจ้งให้ส่ง คืนเงินภาษีอากรผิดพลาดจะไม่ใช่หนังสือแจ้งการประเมินก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7(3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ซึ่ง ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรตามแบบ ค.10 ให้ผิดไปตามแบบที่จำเลยกำหนด โดยจำเลยได้ทำการพิจารณา คำร้องของโจทก์ดังกล่าวจนมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ส่ง เงินภาษีอากรส่วนที่เกินคืน ถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของ โจทก์ในการขอคืนเงินภาษีอากรจากจำเลยแล้ว เมื่อโจทก์ได้ ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและ วิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 9 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าเงินค่าดอกเบี้ยตามคำฟ้อง15,259,388.31 บาท ไม่ใช่รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เป็นรายจ่ายซึ่งโจทก์มีสิทธิหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้และจำเลยไม่มีสิทธิเรียกคืนภาษี 5,497,022.41 บาท จากโจทก์ เนื่องจากโจทก์ได้ชำระภาษีและรับคืนภาษีจากจำเลยถูกต้องแล้ว รวมทั้งให้เพิกถอนหนังสือแจ้งให้ส่งคืนเงินภาษีอากรผิดพลาดที่ กค.0828/11652 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2540 ออกโดยสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ 8
จำเลยให้การว่า การที่โจทก์กู้เงินจากบริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ด ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) มาซื้อที่ดินดอกเบี้ยของเงินกู้ดังกล่าวแม้จะไม่เป็นรายจ่ายที่ทำให้โจทก์ได้ที่ดินมาโดยตรง แต่เป็นรายจ่ายที่เกิดจากการกู้ยืมเงินมาซื้อที่ดิน ถือว่าเป็นรายจ่ายต่อเนื่องที่เป็นผลให้โจทก์ได้รับเงินมาเพื่อซื้อที่ดินย่อมเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนเช่นเดียวกับค่าซื้อที่ดิน โจทก์จึงไม่อาจนำดอกเบี้ยดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (5) ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2534 โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรจำนวน 44,230,787.25 บาท จากจำเลยโดยมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารนครธน จำกัด (มหาชน) ให้แก่จำเลยจนกว่าจะตรวจสอบเสร็จ แล้วจำเลยได้คืนเงินภาษีอากรดังกล่าวให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน 2535 จำเลยออกหมายเรียกโจทก์ตามประมวลรัษฎากรให้ไปชี้แจงประกอบการไต่สวนภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์พบว่าโจทก์มีสิทธิได้คืนเงินภาษีอากรเพียง 38,733,764.84 บาท จึงมีหนังสือแจ้งให้ส่งคืนเงินภาษีอากรผิดพลาดจำนวน 5,497,022.41 บาท ถึงโจทก์เมื่อวันที่10 กรกฎาคม 2540 โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่จำเลยไม่ยอมรับอุทธรณ์ โดยอ้างว่าหนังสือแจ้งให้ส่งคืนเงินภาษีอากรผิดพลาดมิใช่หนังสือแจ้งการประเมิน คดีมีปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรจากจำเลยตามแบบ ค.10 ที่จำเลยกำหนดซึ่งต่อมาจำเลยได้ออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนพบว่า โจทก์ได้รับค่าภาษีอากรเกินไปจำนวน 5,497,022.41 บาท จึงได้มีหนังสือแจ้งให้ส่งคืนภาษีอากรผิดพลาดดังกล่าว แม้หนังสือแจ้งให้ส่งคืนเงินภาษีอากรผิดพลาดจะไม่ใช่หนังสือแจ้งการประเมินดังที่จำเลยให้การไว้ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7(3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรตามแบบค.10 ให้ผิดไปจากแบบที่จำเลยกำหนด โดยจำเลยได้ทำการพิจารณาคำร้องของโจทก์ดังกล่าวจนมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ส่งเงินภาษีอากรส่วนที่เกินคืน อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในการขอคืนเงินภาษีอากรจากจำเลยแล้ว เมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 9 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ให้ศาลภาษีอากรกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share