คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4247/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นไม่ได้ตั้งประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับจำนวนเนื้อที่ของที่ดินพิพาทไว้เพราะจำเลยได้ให้การยอมรับว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 7 ตารางวา ฎีกาของจำเลยเกี่ยวกับจำนวนเนื้อที่ของที่ดินพิพาทจึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากสามีให้ฟ้องคดีนั้น แม้ศาลอุทธรณ์จะไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ให้เพราะศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่เป็นสาระแก่คดีก็ตามแต่ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยทั้งสองต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยศาลฎีการับวินิจฉัยให้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นนี้ใหม่ การถมดินในที่ดินพิพาทเป็นเพียงการเตรียมการก่อสร้างบ้านและรั้วคอนกรีตเท่านั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาท เพราะเป็นการที่โจทก์และจำเลยร่วมกันถมดินทั้งแปลงใหญ่ และเมื่อจำเลยยังไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นสัดส่วน ระยะเวลาเริ่มต้นแห่งการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจึงไม่เริ่มนับ แต่ต้องเริ่มนับตั้งแต่จำเลยสร้างบ้านรุกล้ำและล้อมรั้วเพื่อแสดงแนวเขตที่แน่นอนในที่ดินพิพาท และเมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกนางฉันทนา ดาวราย ว่าโจทก์ และเรียกนางลาวัณย์อุปอินทร์ กับเรียกนายสมโภชน์ อุปอินทร์ ว่า จำเลยที่ 1และที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องในสำนวนแรกว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11971 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11972 พร้อมบ้านเลขที่ 37/3 ซึ่งจำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นเจ้าของร่วมกัน เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2529โจทก์ได้ไปยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์เนื่องจากหลักเขตต่าง ๆ ได้ถูกเคลื่อนย้ายและสูญหายไปจากตำแหน่งเดิมเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการรังวัดสอบเขตแล้ว ปรากฏว่าหลักเขตที่ดินของโจทก์ด้านที่ติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ได้ถูกเคลื่อนย้ายและสูญหาย นอกจากนั้นยังปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้สร้างบ้านและรั้วคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดปักหลักเขตโดยได้คัดค้านการสอบเขตเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการเปรียบเทียบ เมื่อวันที่5 สิงหาคม 2529 และแจ้งให้คู่กรณีไปยื่นฟ้องต่อศาลภายใน 90 วันจำเลยทั้งสองได้สร้างบ้านและรั้วคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ตามรูปแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 คิดเป็นเนื้อที่7 ตารางวา ราคาตารางวาละ 20,000 บาท ขอให้พิพากษาให้เจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการปักหลักเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 11971 ของโจทก์ด้านที่ติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องตามที่เจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดสอบเขต (ตรวจเขต) ตามคำขอของโจทก์ โดยห้ามมิให้จำเลยทั้งสองขัดขวางการกระทำของเจ้าพนักงานที่ดินกับให้จำเลยทั้งสองรื้อบ้านและรั้วคอนกรีตด้านที่ติดกับที่ดินของโจทก์เฉพาะส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 11971ของโจทก์ ถ้าหากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่ควรจะต้องรื้อบ้านและรั้วคอนกรีตออกไป ก็ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินค่าที่ดินแก่โจทก์เป็นเงิน 140,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11971 โจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากสามีให้ฟ้องคดี จำเลยทั้งสองไม่ได้สร้างบ้านและรั้วคอนกรีตรุกล้ำที่ดินของโจทก์ หากโจทก์มีสิทธิหรือเคยมีสิทธิในที่ดินพิพาท7 ตารางวาจริง สิทธิของโจทก์ก็ระงับไปแล้ว เนื่องจากจำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเกินกว่า 10 ปี ด้วยการถมดินและปรับที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2518 โดยถมตามแนวรั้วที่ปรากฏในปัจจุบัน ต่อมาได้มีการสร้างรั้วคอนกรีต โรงเรือน และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ตลอดแนวที่ดินพิพาทโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งสิทธิ จำเลยทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้วขอให้พิพากษายกฟ้อง และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า การถมดินและปรับที่ดินไม่ใช่เป็นการแสดงเจตนาครอบครองที่ดินโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เพราะการถมดินและปรับที่ดินได้ทำพร้อมกันทั้งของโจทก์และของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองสร้างบ้านและรั้วคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ยังไม่ถึง 10 ปี ขอให้พิพากษายกฟ้องแย้ง
ชั้นพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ผู้ขอต้องร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายที่ดินจะฟ้องเจ้าของที่ดินไม่ได้ จึงให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องแย้ง
ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้สำนวนหลังว่า จำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินตามโฉนดเลขที่ 11971 เนื้อที่ประมาณ 7 ตารางวาซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามแผนที่วิวาทบริเวณพื้นที่สีเขียว (ก.1, ก.2, ข.1, ข.2) เอกสารท้ายคำร้องขอหมายเลข 1 ตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา โดยถมดินสร้างบ้านและรั้วคอนกรีตอย่างถาวรโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11971 ในส่วนที่จำเลยทั้งสองครอบครองและให้โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยทั้งสองหากไม่ไปก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยทั้งสองได้สร้างบ้านพร้อมรั้วคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริต จำเลยทั้งสองไม่เคยแสดงเจตนาเป็นเจ้าของ การก่อสร้างบ้านและรั้วคอนกรีตของจำเลยทั้งสองยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยทั้งสองจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อรั้วคอนกรีต สตูดิโอและเรือนกล้วยไม้ซึ่งปลูกสร้างอยู่ในเขตแนวเส้นสีเขียวตามแผนที่วิวาท เอกสารหมาย จ.ล.1 ที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 11971 ของโจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับข้อฎีกาเรื่องจำนวนเนื้อที่ของที่ดินพิพาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นไม่ได้ตั้งประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับจำนวนเนื้อที่ของที่ดินพิพาทไว้ เพราะจำเลยทั้งสองได้ให้การยอมรับว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 7 ตารางวาฎีกาของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับจำนวนเนื้อที่ของที่ดินพิพาทจึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองสร้างบ้านและรั้วคอนกรีตรุกล้ำที่ดินของโจทก์หรือไม่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นพิพาทที่ว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิที่ดินพิพาทหรือไม่นั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองสร้างบ้านและรั้วคอนกรีตรุกล้ำที่ดินของโจทก์คิดเป็นเนื้อที่ 7 ตารางวา ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยจริง
ส่วนข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากสามีให้ฟ้องคดีนั้น แม้ศาลอุทธรณ์จะไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ให้เพราะศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่เป็นสาระแก่คดีก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยทั้งสองต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ปัญหาดังกล่าวนับเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยจึงรับวินิจฉัยให้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นนี้ใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้โจทก์นำสืบว่า สามีโจทก์ได้ถึงแก่กรรมแล้วเมื่อปี 2522 แม้โจทก์จะไม่มีใบมรณบัตรของสามีโจทก์มาแสดงก็ตามแต่จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบหักล้างแสดงให้เห็นว่าสามีของโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดี จึงเชื่อได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า สามีโจทก์ถึงแก่กรรมแล้วก่อนที่โจทก์ฟ้องคดีโจทก์จึงไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใดในการฟ้องคดี
สำหรับประเด็นข้อพิพาทข้อที่สองที่ว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วหรือไม่และโจทก์มีสิทธิให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านและรั้วคอนกรีตออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่เพียงใดนั้นในเรื่องระยะเวลาเริ่มต้นแห่งการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองฎีกาว่าจะต้องเริ่มนับตั้งแต่ปี 2517 ซึ่งเป็นปีที่จำเลยทั้งสองเข้าไปถมดินและปรับที่ดินเพื่อจะสร้างบ้านและรั้วคอนกรีตในที่ดินพิพาทหาใช่นับตั้งแต่ปี 2520 ซึ่งเป็นปีที่จำเลยทั้งสองสร้างบ้านและรั้วคอนกรีตเสร็จและเข้าไปอยู่ในบ้านหลังนั้นไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น มาตรา 6 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้บุคคลปลูกสร้างอาคารอย่างใด ๆ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น”และปรากฏหลักฐานตามเอกสารหมาย ล.1 ว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งขออนุญาตปลูกสร้างอาคารเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2520 และได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2520 ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบให้ปรากฏว่าเหตุใดข้ออ้างของจำเลยทั้งสองจึงแตกต่างจากหลักฐานการอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคาร จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเริ่มสร้างบ้านเมื่อปลายปี 2519 แต่ต้องฟังว่าอย่างเร็วที่สุดที่จำเลยทั้งสองเริ่มสร้างบ้านได้ อันจะถือว่าเป็นการเริ่มต้นแห่งการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทคือวันที่ 21 กรกฎาคม 2520ซึ่งจำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคาร เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่ครบ 10 ปี แม้จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และความปรากฎจากข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองได้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างหลายรายการได้แก่รั้วคอนกรีต สตูดิโอ และเรือนกล้วยไม้ในที่ดินพิพาท โจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวก็ชอบที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นออกไปจากที่ดินของโจทก์ได้
พิพากษายืน

Share