คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4684/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินของจำเลยที่ 1ต่อธนาคาร โจทก์ได้ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินไว้กับโจทก์จำนวน 80,000 บาท เพื่อเป็นประกัน ดังนั้น แม้ในขณะนั้นสัญญากู้เงินจะยังไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 วรรคสองแต่ก่อนฟ้องคดี ธนาคารได้หักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไปแล้วเท่ากับจำนวนเงินตามหนังสือสัญญากู้ย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ 1ได้รับเงินตามหนังสือสัญญากู้นับแต่ธนาคารได้หักเงินของโจทก์ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 หนังสือสัญญากู้จึงเป็นหนังสือสัญญาที่บริบูรณ์มีมูลหนี้ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2527 จำเลยที่ 1กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 80,000 บาท กำหนดชำระคืนภายในวันที่15 เมษายน 2528 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปครบถ้วนแล้วมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเป็นเงิน 100,000 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 80,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยเป็นหนี้เงินกู้และรับเงินกู้จากโจทก์แต่อย่างใด เดิมโจทก์ไปทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้จำเลยที่ 1 ต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาอุดรธานีจำนวน 80,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงทำสัญญากู้ดังกล่าวให้โจทก์ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระเงินกู้แก่ธนาคารเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1ขอสัญญากู้คืน แต่โจทก์บอกว่าทำลายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 80,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันกู้จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญากู้เงินกันไว้ เพื่อเป็นประกันก่อนที่จำเลยที่ 1 จะไปกู้เงินจากธนาคารโดยให้โจทก์ค้ำประกันนั้น แม้ในขณะนั้นสัญญากู้เงินจะยังไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 วรรคสองก็ตาม แต่เมื่อก่อนฟ้องคดีนี้ ธนาคารได้หักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไปแล้วเท่ากับจำนวนเงินตามสัญญากู้ย่อมถือได้ว่าหนังสือสัญญากู้นั้น จำเลยที่ 1 ได้รับเงินตามสัญญากู้นับแต่ธนาคารได้หักเงินของโจทก์ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1หนังสือสัญญากู้จึงเป็นหนังสือสัญญาที่บริบูรณ์ มีมูลหนี้ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย ฯลฯ และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารได้หักเงินโจทก์ชำระหนี้จำเลยที่ 1 คือวันที่ครบกำหนดชำระคืนตามสัญญากู้
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันครบกำหนดตามสัญญากู้(วันที่ 15 เมษายน 2528) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจนครบ

Share