แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยส่งอาวุธเป็นซึ่งบรรจุกระสุนปืนพร้อมจะยิงได้ให้ ผู้ตายโดยหันปากกระบอกปืนไปทางผู้ตายและไม่ระมัดระวังเป็นเหตุให้ปืนลั่นขึ้นทำให้กระสุนปืนถูกผู้ตายที่กกหูถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง จึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเจตนาฆ่าผู้ตาย ปรากฏในการพิจารณาว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายแต่บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม ได้บัญญัติไว้ว่า ข้อแตกต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาทเป็นข้อแตกต่างกันเพียงรายละเอียด ดังนั้นศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ ทั้งจำเลยก็ยอมรับว่าได้ส่งอาวุธปืนให้ผู้ตาย แล้วปืนเกิดลั่นขึ้นทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยจึงไม่ได้หลงต่อสู้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนลูกซองพกซึ่งไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานจำนวน 1 กระบอก กับมีกระสุนปืนไม่ทราบขนาด จำนวน 1 นัด อันเป็นเครื่องกระสุนปืน ซึ่งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวสามารถใช้ยิงได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่และไม่มีเหตุได้รับยกเว้นโทษตามกฎหมาย และจำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนางทองอินทร์ทิพย์เสถียร ผู้ตาย ซึ่งเป็นภรรยาของจำเลยโดยเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกบริเวณกกหูของผู้ตายทำให้กะโหลกศีรษะแตกเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2501 มาตรา 3 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7)พ.ศ. 2522 มาตรา 7 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 6 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 72 (ที่ถูก 72 วรรคแรก)พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 3พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 7ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 4 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงลงโทษจำคุก 2 ปี โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องนางทองอินทร์ ทิพย์เสถียร ผู้ตายซึ่งเป็นภรรยาจำเลยได้ถูกกระสุนปืนจากอาวุธปืนของจำเลยที่จำเลยมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตที่บริเวณกกหู และถึงแก่ความตายด้วยบาดแผลดังกล่าวปัญหาในชั้นฎีกาตามที่จำเลยฎีกาข้อแรกมีว่า จำเลยได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่ เห็นว่าแม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่มีพยานในขณะเกิดเหตุรู้เห็นว่าจำเลยกระทำอย่างไรอันจะถือว่าจำเลยได้กระทำโดยประมาทแต่โจทก์และโจทก์ร่วมก็มีนายสมคิด คำเชื้อ ลูกจ้างจำเลยเป็นพยานเบิกความว่าขณะพยานเก็บของอยู่ที่รถซึ่งมีจำเลยอยู่ด้วยนั้น พยานได้ยินเสียงจำเลยเรียกผู้ตายให้มาเอาอาวุธปืนไปเก็บ จากนั้นพยานเห็นผู้ตายเดินไปหาจำเลยและมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด กระสุนปืนถูกผู้ตายที่กกหู และพันตำรวจโทวราสีห์ เพ็ญยโชติ พนักงานสอบสวนเบิกความประกอบคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.7ว่า จำเลยให้การว่าในขณะที่จำเลยส่งอาวุธปืนให้ผู้ตายนั้นปืนได้ลั่นขึ้นกระสุนปืนถูกผู้ตาย ประกอบกับในชั้นพิจารณาจำเลยก็เบิกความยอมรับดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยส่งอาวุธปืนซึ่งบรรจุกระสุนปืนพร้อมจะยิงได้ให้ผู้ตายโดยหันปากกระบอกปืนไปทางผู้ตายและไม่ระมัดระวังเป็นเหตุให้ปืนลั่นขึ้นทำให้กระสุนปืนถูกผู้ตายที่กกหูถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยจำต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ ที่จำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ จำเลยก็หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเจตนาฆ่าผู้ตายแต่ปรากฏในการพิจารณาว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจำเลยหลงต่อสู้ ลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม ได้บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วว่า ข้อแตกต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาทเป็นข้อแตกต่างกันเพียงรายละเอียด ดังนั้นศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ ที่จำเลยอ้างว่าหลงต่อสู้ จำเลยก็ยอมรับว่าได้ส่งอาวุธปืนให้ผู้ตาย แล้วปืนเกิดลั่นขึ้นทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยหาได้หลงต่อสู้ดังที่อ้างไม่”
พิพากษายืน