คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3021/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

วัตถุระเบิดของกลางเป็นวัตถุระเบิดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 11(พ.ศ. 2522) ซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองได้ วัตถุระเบิดของกลางดังกล่าวจึงเป็นของที่มีไว้เป็นความผิดอยู่ในตัว จำเลยมีไว้ในครอบครองต้องมีความผิด ซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 32 บัญญัติไว้ว่าให้ริบเสียทั้งสิ้น การที่ศาลไม่สั่งริบของกลางตามคำขอของโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วย ป.อ. มาตรา 32 ประกอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 186(9) แม้โจทก์ไม่ยกขึ้นว่ากันในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจทำคำวินิจฉัยในเรื่องของกลางได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 38, 55, 68 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2522 มาตรา 6 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2520มาตรา 3 กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ข้อ 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 38, 55, 78 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 6 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิก ดอกไม้เพลิง และเครื่องเทียมอาวุธปืน(ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2530 มาตรา 3 กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522)ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ข้อ 4 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32 ลงโทษจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ของกลางที่จับได้จากจำเลยนั้น จำเลยยอมรับแล้วว่าเป็นวัตถุระเบิดนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 11(พ.ศ. 2522) ซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองได้ ถือได้ว่าของกลางดังกล่าวเป็นของที่มีไว้เป็นความผิดอยู่ในตัวจำเลยมีไว้ในครอบครองต้องมีความผิด ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 บัญญัติไว้ว่าให้ริบเสียทั้งสิ้น ฉะนั้นในเมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้มีคำขอให้สั่งริบแต่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้มีคำสั่งริบ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายอาญา มาตรา 32 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(9) แม้โจทก์มิได้ยกขึ้นว่ากันในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจทำคำวินิจฉัยในเรื่องของกลาง และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ และเห็นว่าวัตถุระเบิดของกลางมีไว้เป็นความผิดจึงต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share