แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำผิดบัญญัติวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งปรับทั้งจำซึ่งมีอัตราโทษเบากว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 ที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและเป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำผิดกับจำเลยตาม ป.อ.มาตรา 3.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารเอเซีย จำกัด สาขาสามชุกเลขที่ 1383794 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2533 จำนวนเงิน 84,015 บาทโดยเจตนากระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ให้ลงโทษจำคุก2 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบฟังเป็นยุติว่า จำเลยให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินให้นายชัยวัฒน์ปัญจพงษ์ และนายเนาวรัตน์ พลายน้อย ผู้ขาย 1 แปลง เนื้อที่15 ไร่เศษ ผู้ขายตกลงให้ค่านายหน้าร้อยละ 3 โจทก์ติดต่อหาผู้ซื้อได้ในราคาไร่ละ 200,000 บาท ผู้ขายไม่ให้เงินค่านายหน้าตามที่ตกลงแต่ให้เงินค่าตอบแทนจำนวนหนึ่ง โดยผู้ขายมอบเงินค่าตอบแทนในวันทำสัญญาซื้อขายที่ดิน 100,000 บาท และในวันโอนกรรมสิทธิ์ 100,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ โดยจำนวนเงินที่เป็นตัวอักษรระบุว่าแปดหมื่นสี่พันสิบห้าบาท แต่ระบุเป็นตัวเลขว่า 8,415 บาท โจทก์นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2533 โดยอ้างว่าจำนวนเงินที่เป็นตัวอักษรและตัวเลขไม่ตรงกันปรากฏตามเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2ตามลำดับ ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยออกเช็คโดยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค อันจะทำให้จำเลยมีความผิดตามฟ้องหรือไม่…ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยรู้ว่าตนมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ 84,015 บาท แล้วสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ ซึ่งจำนวนเงินในเช็คพิพาทที่เป็นตัวอักษรนั้นถูกต้องการที่จำเลยเขียนจำนวนเงินลงในเช็คเป็นตัวเลขว่า 8,415 บาทเป็นเรื่องที่จำเลยมีเจตนาที่จะให้มีการผิดพลาดเพื่อไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คอันเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นแต่เนื่องจากระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำผิด บัญญัติระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่ากฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดและเป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำผิดกับจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ให้จำคุก2 เดือนและปรับ 10,000 บาท สำหรับโทษจำคุกนั้น เห็นว่า ตามทางนำสืบไม่ปรากฏว่า จำเลยมีประวัตินิสัย ความประพฤติเป็นข้อเสียหายหรือเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นคนดีเห็นควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30.