แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ชัดเจนพอที่จะฟังได้ว่า สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยในการยับยั้งและจัดเก็บสิทธิในภาพยนตร์หมายถึงอะไร เจ้าของสิทธิ ในต่างประเทศยังคงสงวนสิทธิในการใช้ดุลพินิจพิจารณาข้อดีข้อเสียในการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยด้วยตนเองเพียงผู้เดียวหรือไม่หากเจ้าของสิทธิในต่างประเทศยังคงสงวนสิทธิดังกล่าว การร้องทุกข์โดยบริษัท บ. จะทำได้ต้องทำในฐานะตัวแทนเจ้าของสิทธิในต่างประเทศซึ่งก็ต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของสิทธิในต่างประเทศให้ทำเช่นนั้นได้ด้วย และไม่เป็นการยากที่เจ้าของสิทธิในต่างประเทศจะทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือทำหนังสือมอบอำนาจให้ชัดเจนหากมีความประสงค์เช่นนั้นจริง และหากมีข้อเท็จจริงเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องระบุไว้ในคำบรรยายฟ้องให้ชัดเจน เพื่อมิให้กระทบถึงเสรีภาพของจำเลยทั้งห้าในการที่อาจถูกดำเนินคดีซ้ำสอง เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ยังไม่มีความชัดเจนในข้อนี้ กรณียังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าบริษัท บ. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้าในความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต การแจ้งความร้องทุกข์โดยบริษัท บ. จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย ทำให้การสอบสวนไม่ชอบและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง โดยให้มีผลถึงจำเลยที่ไม่อุทธรณ์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 15, 27, 28, 29, 69 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 20, 34 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลาง และให้แผ่นวีซีดี (ที่ถูก แผ่นซีดี) ภาพยนตร์เรื่อง “แดจังกึมจอมนางแห่งวังหลวง” ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 (2) ประกอบมาตรา 62 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 69 วรรคสอง) พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 (ที่ถูก มาตรา 20 วรรคหนึ่ง), 34 การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งห้าแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นเพียงลูกจ้างประกอบกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กลับตนเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจำนวน 3 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี สำหรับจำเลยที่ 5 เป็นกรรมการผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดทีที เคเบิล และเป็นผู้ซื้อแผ่นวีซีดี (ที่ถูก แผ่นซีดี) ภาพยนตร์ เรื่อง “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” ซึ่งจำเลยทั้งห้ามาทำการแพร่ภาพและเสียงแก่ประชาชนทั่วไปที่เป็นสมาชิก ให้ลงโทษฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานโสตทัศนวัสดุหรือภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน และปรับ 200,000 บาท ฐานฉายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณา ปรับ 10,000 บาท รวมโทษทุกกระทงความผิดเป็นจำคุก 2 เดือนและปรับ 210,000 บาท จำเลยที่ 5 ให้การรับสารภาพ นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 105,000 บาท เมื่อพิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยที่ 5 ประกอบกับข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 5 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรรอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 กับให้จำเลยที่ 5 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจำนวน 3 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี หากจำเลยที่ 5 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้แผ่นซีดีภาพยนตร์เรื่อง “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของผู้เสียหาย ค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานโสตทัศนวัสดุหรือภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จ่ายให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 76 ส่วนที่โจทก์ขอให้ริบแผ่นซีดีภาพยนตร์และเพลงที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาจำนวน 1,308 แผ่น นั้น การกระทำความผิดของจำเลยทั้งห้าฐานนี้เกิดจากการที่ไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น แผ่นซีดีภาพยนตร์และเพลงของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันพึงริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) คำขอส่วนนี้จึงให้ยกเสีย
จำเลยที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…ตามคำฟ้องดังกล่าวไม่ชัดเจนพอฟังได้ว่าสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยในการยับยั้งและจัดเก็บสิทธิในภาพยนตร์หมายถึงอะไร เจ้าของสิทธิในต่างประเทศยังคงสงวนสิทธิในการใช้ดุลพินิจพิจารณาข้อดีข้อเสียในการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยด้วยตนเองเพียงผู้เดียวหรือไม่ หากเจ้าของสิทธิในต่างประเทศยังคงสงวนสิทธิดังกล่าว การร้องทุกข์โดยบริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) จะทำได้ต้องทำในฐานะตัวแทนเจ้าของสิทธิในต่างประเทศ ซึ่งก็ต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของสิทธิในต่างประเทศให้ทำเช่นนั้นได้ด้วย และไม่เป็นการยากที่เจ้าของสิทธิในต่างประเทศจะทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือทำหนังสือมอบอำนาจให้ชัดเจนหากมีความประสงค์เช่นนั้นจริง และหากมีข้อเท็จจริงเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องระบุไว้ในคำบรรยายฟ้องให้ชัดเจน เพื่อมิให้กระทบถึงเสรีภาพของจำเลยทั้งห้าในการที่อาจถูกดำเนินคดีซ้ำสองเมื่อตามคำฟ้องโจทก์ยังไม่มีความชัดเจนในข้อนี้ กรณียังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าบริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้าในความผิดฐานดังกล่าวได้ การแจ้งความร้องทุกข์โดยบริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย ทำให้การสอบสวนไม่ชอบและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง โดยให้มีผลถึงจำเลยที่ไม่อุทธรณ์ด้วย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย
สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 ว่า กรณีมีเหตุสมควรลดโทษปรับให้จำเลยที่ 5 ในความผิดฐานฉายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 34 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยที่ 5 กระทำความผิดและในขณะยื่นอุทธรณ์ กำหนดอัตราโทษไว้ให้จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ปรับจำเลยที่ 5 จำนวน 10,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงปรับจำเลยที่ 5 จำนวน 5,000 บาท จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 5 ต้องคำพิพากษาให้ปรับไม่เกินห้าพันบาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยที่ 5 อุทธรณ์ขอให้ลดค่าปรับในข้อหานี้ด้วย เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง