คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5121/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนคำร้องแล้วส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่าจะสั่งรับคำร้องนั้นไว้เพื่อดำเนินการพิจารณาคดีนั้นใหม่หรือไม่ตามมาตรา 9 ซึ่งในการพิจารณาสั่งคำร้องของศาลอุทธรณ์นั้น มาตรา 10 วรรคสองกำหนดให้คำสั่งรับคำร้องหรือคำสั่งยกคำร้องของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด เมื่อคดีนี้อยู่ในชั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นของศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณาสั่งรับคำร้องของผู้ร้องหรือไม่ มิใช่กรณีที่มีการพิจารณาคดีใหม่แล้วมีคำพิพากษาตามมาตรา 13 ที่จะฎีกาได้ตามมาตรา 15 (2) ดังนั้น คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่วินิจฉัยว่าคำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่และให้ยกคำร้องของผู้ร้องย่อมเป็นที่สุดตามบทบัญญัติมาตรา 10 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิฎีกา

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ผู้ร้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 83 จำคุก 1 ปี และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4421/2541 ของศาลชั้นต้น ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน คดีถึงที่สุด ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่อ้างว่า ผู้ร้องมีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี ทั้งพยานเอกสาร พยานวัตถุและพยานบุคคล ซึ่งหากนำเสนอต่อศาลแล้วจะแสดงว่าผู้ร้องมิได้กระทำความผิด
ศาลชั้นต้นส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมทั้งทำความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่าพยานหลักฐานของผู้ร้องมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 5 (3) แห่งพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 เห็นสมควรยกคำร้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การร้องขอให้ศาลรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 นั้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นตามมาตรา 8 ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนคำร้องแล้วส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่าจะสั่งรับคำร้องนั้นไว้เพื่อดำเนินการพิจารณาคดีนั้นใหม่หรือไม่ตามมาตรา 9 ซึ่งในการพิจารณาสั่งคำร้องของศาลอุทธรณ์นั้น มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับสำนวนการไต่สวนและความเห็นแล้ว ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ให้ศาลอุทธรณ์สั่งรับคำร้องและสั่งให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป แต่ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูล ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น” และวรรคสองบัญญัติว่า “คำสั่งของศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด” เมื่อคดีนี้อยู่ในชั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นของศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณาสั่งรับคำร้องของผู้ร้องหรือไม่ตามมาตรา 10 ดังกล่าว มิใช่กรณีที่มีการพิจารณาคดีใหม่แล้วมีคำพิพากษาตามมาตรา 13 ที่จะฎีกาได้ตามมาตรา 15 (2) ดังนั้น คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่วินิจฉัยว่าคำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ และให้ยกคำร้องของผู้ร้องย่อมเป็นที่สุดแล้วตามบทบัญญัติมาตรา 10 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะฎีกาได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ร้องมาไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาผู้ร้อง

Share