คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4674/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะมีสัญญากู้ยืมเงินมาแสดงว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป 400,000 บาท แต่จำเลยก็ยังนำสืบโต้แย้งจำนวนเงินที่กู้ไปจากโจทก์ว่า ไม่ได้รับเงินไปครบถ้วนตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน อันเป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย จำเลยทั้งสองย่อมนำสืบได้หาใช่เป็นกรณีต้องห้ามมิให้นำสืบไม่
ในการกู้ยืมเงินโจทก์ยึดสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารและบัตรถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยไว้ ที่จำเลยนำสืบว่า โจทก์นำบัตรถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยไปเบิกเงินเดือนของจำเลยเป็นเงินประมาณ 300,000 บาท เป็นการนำสืบว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้
จำเลยอ้างส่งเทปบันทึกเสียงซึ่งบันทึกการสนทนาระหว่างโจทก์และจำเลยพร้อมเอกสารที่ถอดข้อความบันทึกการสนทนาดังกล่าว และรายการบัญชีเงินฝากของจำเลยเป็นพยานหลักฐานว่า โจทก์ได้ชำระหนี้ไปครบถ้วนแล้ว โดยเสียงที่ปรากฏในเทปบันทึกเสียงอันเป็นเสียงของโจทก์จริง เทปบันทึกเสียงการสนทนาระหว่างโจทก์และจำเลย เอกสารที่ถอดข้อความบันทึกการสนทนา นับเป็นพยานหลักฐานซึ่งเกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยจะนำสืบในประเด็นเรื่อง การใช้เงิน และเมื่อการบันทึกเสียงดังกล่าวเกิดจากการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นคู่สนทนาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บันทึกเสียงไว้เอง ซึ่งโดยปกติจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะเบิกความอ้างถึงการสนทนาในครั้งนั้นได้อยู่แล้ว จึงไม่ถือว่าเทปบันทึกเสียงและเอกสารที่ถอดข้อความบันทึกการสนทนา เป็นการบันทึกถ้อยคำซึ่งเกิดจากการกระทำโดยมิชอบ อันจะต้องห้ามมิให้ รับฟังเป็นพยานหลักฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 243 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ในเงินต้น ๔๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๒๘๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๖๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๐ อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ ๑ กู้ยืมเงินโจทก์ไป ๔๐๐,๐๐๐ บาท หรือ ๑๖๐,๐๐๐ บาท เห็นว่า แม้โจทก์จะมีสัญญากู้ยืมเงินมาแสดงว่าจำเลยที่ ๑ กู้ยืมเงินโจทก์ไป ๔๐๐,๐๐๐ บาท แต่จำเลยที่ ๑ ก็ยังนำสืบโต้แย้งจำนวนเงินกู้ที่กู้ไปจากโจทก์ว่า ไม่ได้รับเงินไปครบถ้วนตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน อันเป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ วรรคท้าย จำเลยทั้งสองย่อมนำสืบได้ หาใช่เป็นกรณีต้องห้ามมิให้นำสืบดังที่โจทก์ฎีกา …
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า จำเลยทั้งสองได้ชำระเงินจำนวน ๑๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่า ในการกู้ยืมเงินโจทก์ยึดสมุดบัญชีเงินฝากและบัตรถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยที่ ๑ ไว้ แต่โจทก์ได้รับเงินไปเท่าใดนั้น จำเลยทั้งสองนำสืบว่า ในปี ๒๕๓๔ ถึง ๒๕๓๗ โจทก์นำบัตรถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยที่ ๑ ไปเบิกเงินเดือนของจำเลยที่ ๑ จนหมดเป็นเงินประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท การนำสืบการใช้เงินโดยวิธีดังกล่าวจำเลยทั้งสองชอบที่จะทำได้ เพราะเป็นการนำสืบว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ โดยจำเลยทั้งสองอ้างส่งเทปบันทึกเสียงซึ่งบันทึกการสนทนาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ พร้อมเอกสารที่ถอดข้อความบันทึกการสนทนาดังกล่าว และรายการบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ ๑ เป็นพยานหลักฐานว่า โจทก์ได้ชำระหนี้ไปครบถ้วนแล้ว ในชั้นอุทธรณ์ฎีกาโจทก์ยอมรับว่า เสียงที่ปรากฏในเทปบันทึกเสียงเป็นเสียงของโจทก์คงโต้เถียงเพียงว่า จำเลยที่ ๑ แอบบันทึกเสียงไว้โดยโจทก์ไม่รู้ตัวและไม่ยินยอม เทปบันทึกเสียงดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเท่านั้น ดังนี้ย่อมรับฟังได้ว่าเสียงที่ปรากฏใน เทปบันทึกเสียงเป็นเสียงของโจทก์จริง เทปบันทึกเสียงการสนทนาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ และเอกสารที่ถอดข้อความบันทึกการสนทนานั้น นับเป็นพยานหลักฐานซึ่งเกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองจะนำสืบในประเด็นเรื่องการใช้เงินนี้ แม้ในขณะนั้นโจทก์จะไม่ทราบว่ามีการบันทึกเสียงไว้ก็ตาม แต่เมื่อเสียงที่ปรากฏในเทปบันทึกเสียงเป็นเสียงของโจทก์จริง และการบันทึกเสียงดังกล่าวเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สนทนาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บันทึกเสียงไว้เอง ซึ่งโดยปกติจำเลยที่ ๑ ย่อมมีสิทธิที่จะเบิกความอ้างถึงการสนทนาในครั้งนั้นได้อยู่แล้ว ดังนี้จึงไม่ถือว่า เทปบันทึกเสียงและเอกสารที่ถอดข้อความบันทึกสนทนานั้น เป็นการบันทึกถ้อยคำซึ่งเกิดจากการกระทำโดยมิชอบ อันจะต้องห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๔๓ วรรคสอง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง .

Share