คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3342/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ ฮ. บิดาจำเลยได้ยกโครงหลังคาอาคารด้านหลังตึกแถวจากเดิม สูง 4 เมตรเป็น 6 เมตร เปลี่ยนเสากลางจากสูง 6 เมตรเป็นสูง 7 เมตร และเปลี่ยนหลังคาสังกะสีซึ่งคลุมพื้นที่ว่างด้านหลังตึกแถวเป็นหลังคากระเบื้องโดยใช้กำแพงรั้วอิฐบล็อก เดิม และก่อสร้างรั้วอิฐบล็อก โปร่ง เสริมจากรั้วอิฐบล็อก เดิม สูงขึ้นอีก 1 เมตร และใช้สังกะสีกั้นเป็นผนังต่อจากกำแพงรั้วขึ้นไปจนถึงขอบหลังคา เป็นการขยายรูปทรงและสัดส่วนของโครงสร้างอาคารและต่อเติมส่วนต่าง ๆ ซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิม ถือว่าเป็นการดัด แปลงอาคารตามบทบัญญัติดังกล่าวและขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคารฯ ข้อ 76(4) เมื่อจำเลยให้ ฮ.ดัด แปลงอาคารพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและอาคารดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทด้านหลังตึกแถวออกไปทั้งหมดได้ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารฯ มาตรา 42.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ปลูกสร้างดัดแปลงต่อเติมปิดทางเดินด้านหลังตึกแถวสามคูหา หากจำเลยไม่รื้อถอนก็ขอให้โจทก์รื้อถอนเองได้โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยและบิดาไม่ได้เป็นผู้ก่อสร้างอาคารมุงหลังคาด้านหลังตึกแถวไม่เป็นการดัดแปลงอาคาร
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารดังกล่าวออกไปทั้งหมดหากจำเลยไม่รื้อให้โจทก์จัดการรื้อถอนเองโดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1809 ซอยพญานาค แขวงถนนเพชรบุรี เขตพญาไท กรุงเทพมหานครพร้อมตึกแถวเลขที่ 542, 544, 546 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย ซื้อมาตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2519 ต่อมาวันที่12 ตุลาคม 2521 จำเลยได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อยเนื้อที่เฉพาะตึกแถวแต่ละคูหา ส่วนที่ดินที่เหลือคงอยู่ในโฉนดเดิมที่ดินทุกแปลงและตึกแถวดังกล่าวมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์บริเวณด้านหลังตึกแถวทั้งหมดเดิมมีหลังคาสังกะสีคลุมพื้นที่กว้างประมาณ 15 เมตร ยาวประมาณ 17 เมตร จดกำแพงแนวเขตติดต่อที่ดินของนางสาวบุญสม ดิษาภิรมย์ ไม่มีที่วางหลังตึกแถวทั้งสามคูหาที่ปราศจากสิ่งปกคลุมเป็นทางเดินกว้าง 2 เมตร และไม่มีที่ว่างด้านข้างที่ปราศจากหลังคาปกคลุมอีกด้านละ 10 เมตร ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ต่อมาปี 2524 นายเอ่งหลีบิดาจำเลยได้เปลี่ยนหลังคาสังกะสีเป็นหลังคากระเบื้องและยกโครงหลังคาจากเดิมสูง4 เมตร เป็น 6 เมตร เปลี่ยนเสากลางจากสูง 6 เมตร เป็นสูง 7 เมตรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาท้องถิ่น ต่อมานายเอ่งหลีถูกดำเนินคดีฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ไม่ระงับการก่อสร้างตามคำสั่งของเจ้าพนักงานศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาปรับนายเอ่งหลีฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเงิน 500 บาท ส่วนข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับนายเอ่งหลีเป็นเงิน 1,000 บาท ต่อมาวันที่ 15 กรกฎาคม 2525 โจทก์มีหนังสือสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมออกไปแล้ว จำเลยไม่ยอมรื้อถอน ปัญหาที่ขึ้นสู่ศาลฎีกามีว่าจำเลยดัดแปลงต่อเติมอาคารขัดต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.. 2522 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ดัดแปลง”หมายความว่า เปลี่ยนแปลงต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยายซึ่งลักษณะขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ ของโครงสร้างของอาคารหรือส่วนต่าง ๆ ของอาคารซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิมและมิใช่การซ่อมแซมหรือการดัดแลงที่กำหนดในกฎกระทรวง การที่นายเฮ่งหลีบิดาจำเลยได้ยกโครงหลังคาอาคารห้านหลังตึกแถวทั้งสามคูหาจากเดิมสูง 4 เมตร เป็นสูง 6 เมตร เปลี่ยนเสากลางจากสูง6 เมตร เป็นสูง 7 เมตรและเปลี่ยนหลังคาสังกะสีซึ่งคลุมพื้นที่ว่างด้านหลังตึกแถวทั้งสามคูหาเป็นหลังคากระเบื้องโดยใช้กำแพงรั้วอิฐบล็อกเดิมและก่อสร้างรั้วอิฐบล็อกโปร่งเสริมต่อจากรั้วอิฐบล็อกเดิมสูงขึ้นไปอีก 1 เมตร ตลอดแนวและใช้สังกะสีกั้นเป็นแผ่นต่อจากกำแพงรั้วดังกล่าวขึ้นไปจนถึงขอบหลังคานั้น เป็นการขยายรูปทรงและสัดส่วนของโครงสร้างอาคารและต่อเติมส่วนต่าง ๆ ของอาคารซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้ว ให้ผิดไปจากเดิม ซึ่งมิใช่การซ่อมแซม ถือได้ว่าเป็นการดัดแปลงอาคารตามบทบัญญัติดังกล่าวและขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 76(5) ซึ่งเป็นการดัดแปลงอาคารภายหลังจากพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ใช้บังคับแล้ว เมื่อจำเลยให้นายเฮ่งหลีบิดาจำเลยดัดแปลงอาคารพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและอาคารดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้โจทก์ย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทด้านหลังตึกแถวทั้งสามคูหาออกไปทั้งหมดได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 42 คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้ใช้อาคารพิพาทนั้นเก็บของสำหรับพาณิชยกรรมต้องมีที่ว่างอันปราศจากหลังคาหรือสิ่งใดปกคลุมไม่น้อยกว่า 10 เมตรสองด้าน ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 81 หรือไม่อีกต่อไป…”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share