คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4674/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อตกลงในสัญญาระบุกำหนดเวลาการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะซื้อขายกันไว้ 2 ช่วง คือภายในวันที่ 2 มิถุนายน2528 ซึ่งเป็นกำหนดเวลาให้โจทก์ในฐานะผู้จะซื้อปฏิบัติชำระหนี้และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กัน มิฉะนั้นโจทก์จะต้องชำระค่าเสียหายให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน 11,200 บาท และภายในวันที่ 2 กรกฎาคม2528 ซึ่งเป็นกำหนดเวลาช่วงสุดท้ายที่จะโอนกรรมสิทธิ์กันหากโจทก์ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ จำเลยในฐานะผู้จะขายมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 50,000 บาท ดังนี้ จำเลยยังไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำจนกว่าเวลาจะล่วงพ้นวันที่ 2 กรกฎาคม 2528 อันเป็นกำหนดเวลาช่วงสุดท้ายที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติชำระหนี้ต่อกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 88456 ให้โจทก์ในราคา 1,000,000 บาท ตกลงจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2528 โดยจำเลยทั้งสองได้รับเงินมัดจำ 50,000 บาท ในวันทำสัญญา และตกลงกันว่าหากจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ได้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2528 จำเลยทั้งสองต้องคืนเงินมัดจำ50,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย และยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์อีก100,000 บาท ครั้งถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2528 จำเลยทั้งสองไม่ไปทำสัญญาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 150,937 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน150,000 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามที่โจทก์ฟ้องจริง ได้ตกลงกันไว้ตามสัญญาว่าหากโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระเงินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ภายในวันที่ 2 มิถุนายน 2528 โจทก์ยินยอมชำระค่าเสียหายให้จำเลยเป็นเงิน 11,200 บาท และหากโจทก์ยังไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์กันภายในวันที่ 2 กรกฎาคม 2528 โจทก์ยินยอมให้จำเลยริบมัดจำทั้งหมด แต่เมื่อครบกำหนดเวลาในวันที่ 2 มิถุนายน 2528 โจทก์ยังไม่สามารถหาเงินมาชำระและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาก่อนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2528 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ครบกำหนดนัดชำระเงินและโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญา โจทก์ได้มาขอเลื่อนเวลานัดไปถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2528 โดยเหตุว่ายังหาเงินไม่ทัน จำเลยตกลงยินยอม แต่โจทก์ยังไม่สามารถหาเงินมาชำระให้จำเลยภายในกำหนดเวลาที่ขอเลื่อนดังกล่าว จำเลยจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและริบมัดจำ ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 88,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายต่อกันซึ่งจำเลยตกลงจะขายที่ดินมีโฉนดพร้อมบ้านให้แก่โจทก์ ปรากฏรายละเอียดตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 แต่มิได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ โดยต่างฝ่ายอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิดสัญญา ในปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามที่กำหนดไว้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2528 นั้น สัญญาฉบับพิพาทระบุข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาการโอนกรรมสิทธิ์ไว้ว่า
3. ผู้จะซื้อและผู้จะขายนัดโอนกรรมสิทธิ์กันภายในวันที่ 2กรกฎาคม 2528 ถ้าผู้จะซื้อไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ภายในวันที่2 มิถุนายน 2528 ผู้จะซื้อยินยอมที่จะชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้จะขายเป็นจำนวน 11,200 บาท ทันที ถ้าผู้จะขายไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ภายในวันที่ 2 กรกฎาคม 2528 ผู้จะขายยินยอมที่จะคืนเงินมัดจำให้แก่ผู้จะซื้อพร้อมด้วยดอกเบี้ยพร้อมค่าเสียหายอีก 100,000 บาท
5. ถ้าผู้จะซื้อยังไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์กันภายในวันที่ 2กรกฎาคม 2528 ผู้จะซื้อยินยอมให้ผู้จะขายริบเงินมัดจำทั้งหมด
ตามข้อตกลงที่ระบุในสัญญาข้อ 3 ซึ่งระบุกำหนดเวลาการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ไว้ 2 ช่วง คือภายในวันที่ 2 มิถุนายน 2528 ซึ่งเป็นกำหนดเวลาให้โจทก์ในฐานะผู้จะซื้อปฏิบัติชำระหนี้ และภายในวันที่2 กรกฎาคม 2528 ซึ่งเป็นกำหนดเวลาช่างสุดท้ายที่โจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์กันรวมทั้งข้อกำหนดของสัญญาเกี่ยวกับเงินมัดจำและค่าเสียหายในกรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญานั้น เห็นว่าข้อสัญญาดังกล่าวกำหนดให้โจทก์ในฐานะผู้จะซื้อปฏิบัติชำระหนี้โดยชำระราคาที่เหลือและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ภายในกำหนดเวลาไม่เกินวันที่2 มิถุนายน 2528 มิฉะนั้นโจทก์ผู้จะซื้อจะต้องชำระค่าเสียหายให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน 11,200 บาท แต่ฝ่ายจำเลยในฐานะผู้จะขายซึ่งริบเงินมัดจำไว้จำนวน 50,000 บาท จะยังไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำจนกว่าเวลาจะล่วงพ้นวันที่ 2 กรกฎาคม 2528 อันเป็นกำหนดเวลาช่วงสุดท้ายที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติชำระหนี้ต่อกัน
พิพากษายืน.

Share