คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4671/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 6 ต้องเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ คำว่า สิทธิยึดหน่วง หมายถึง สิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ก็ได้…” การที่ลูกหนี้นำห้องชุดมาวางและทำหนังสือประกันไว้ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการอันเป็นศาลยุติธรรมเป็นองค์กรแห่งรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายไม่มีหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ในการครอบครองทรัพย์สินไว้ให้เจ้าหนี้ เจตนาของลูกหนี้ในการทำหนังสือประกันก็เพื่อทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาตามกระบวนการที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่มีข้อความใดในหนังสือประกันที่แสดงให้เห็นว่าลูกหนี้ทำหนังสือประกันดังกล่าวเพื่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ หนี้ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้มีมูลหนี้มาจากสัญญาจ้างทำของที่ลูกหนี้จ้างเจ้าหนี้ผลิตงานโฆษณาโดยทำเป็นวิดีโอเพื่อเผยแพร่ภาพและเสียงทางสถานีโทรทัศน์ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับค่าจ้างตอบแทนเท่านั้น หาใช่เป็นคุณแก่เจ้าหนี้เกี่ยวด้วยห้องชุดที่ลูกหนี้นำมาวางเป็นประกันแต่อย่างใด เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงห้องชุดดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 6

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 และตั้งลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2547
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ตามคำพิพากษาในฐานะเจ้าหนี้มีประกันเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย 4,796,104.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 3,049,418.39 บาท นับถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จสิ้น
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/29 แล้วมีผู้ทำแผนและนางภารดี สวัสดิกุล ณ อยุธยา เจ้าหนี้รายที่ 64 โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ค่าธรรมเนียมสูงเกินไป เพราะมีการวางประกันต่อศาลแล้ว เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เจ้าหนี้ไม่ใช่เจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 การมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ ไม่มีหลักฐานใดแสดงถึงอำนาจกรรมการผู้มีอำนาจให้ดำเนินคดีแทน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่าเจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกัน จึงมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นเงิน 4,796,104.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,049,418.39 บาท นับถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้ชำระเสร็จจากลูกหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกัน
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้มีคำสั่งแก้คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มตามคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าหนี้ไม่ได้ยึดถือครอบครองทรัพย์สินตามหนังสือประกันและหนี้ที่มีไม่ใช่หนี้เกี่ยวกับตัวทรัพย์ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิยึดหน่วงและไม่ใช่เจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของเจ้าหนี้
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3366/2542 ซึ่งพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระเงิน 3,049,418.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าฤชาธรรมเนียมแก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้ยื่นอุทธรณ์และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ทุเลาการบังคับโดยให้ลูกหนี้นำหลักประกันตามจำนวนที่กำหนดมาวาง ลูกหนี้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 64296 ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมห้องชุดมาวางและทำหนังสือประกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2543 ไว้ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เจ้าหนี้นำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ในชั้นนี้มีว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันหรือไม่ โดยเจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า หนังสือประกันที่ลูกหนี้ทำไว้ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการเป็นการทำหนังสือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 278 ซึ่งบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้นำมาวางและออกใบรับให้ กับมีอำนาจที่จะยึดหรืออายัดและยึดถือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ เมื่อลูกหนี้นำห้องชุด 2 ห้องมาวางและเจ้าพนักงานศาลออกใบรับให้ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ให้ศาลหรือเจ้าหนี้ที่ที่ครอบครองทรัพย์ที่ลูกหนี้นำมาวางไว้เป็นประกันและทำสัญญาประกันและทำสัญญาประกันต่อศาลแทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ครอบครองทรัพย์ที่แท้จริงคือเจ้าหนี้ การครอบครองทรัพย์นั้นผู้มีสิทธิครอบครองไม่จำต้องยึดถือทรัพย์ไว้เองก็ได้ บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1368 เพราะศาลมิได้เป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้หรือมีเหตุอื่นใดที่ศาลจะต้องครอบครองห้องชุดนั้นไว้เพื่อประโยชน์ของศาล และลูกหนี้ก็ไม่มีหนี้ใดที่จะต้องรับผิดต่อศาล แต่ที่ศาลรับวางห้องชุดหรือครอบครองห้องชุดไว้ก็เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่เจ้าหนี้ และการที่ลูกหนี้ทำหนังสือประกันไว้ต่อศาลถือว่าเจ้าหนี้กับลูกหนี้มีหนี้ที่ต้องผูกพันต่อกันตามหนังสือประกันซึ่งระบุไว้ในข้อ 3 ว่า ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แทนตามข้อ 1 (หนี้ตามคำพิพากษา) ขอให้ศาลบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันของลูกหนี้ได้ทันที แสดงให้เห็นว่าการที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการยึดถือห้องชุดของลูกหนี้ไว้เป็นการยึดถือแทนเจ้าหนี้เพื่อนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เป็นการยึดถือห้องชุดของลูกหนี้ไว้โดยมีหนี้เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้อันเกี่ยวด้วยห้องชุดนั้น ห้องชุดดังกล่าวจึงถูกยึดหน่วงไว้จนกว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 และตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 231 วรรคท้าย ซึ่งเป็นคำสั่งศาลในชั้นบังคับคดีที่ต้องการคุ้มครองให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจนครบถ้วนในอนาคต เจ้าหนี้จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 เห็นว่า เจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 ต้องเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ คำว่าสิทธิยึดหน่วงหมายถึงสิทธิยึดหน่วงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้ ท่านผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ก็ได้…” การที่ลูกหนี้นำห้องชุดมาวางและทำหนังสือประกันลงวันที่ 26 ตุลาคม 2543 ไว้ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการอันเป็นศาลยุติธรรมเป็นองค์กรแห่งรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ไม่มีหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ในการครอบครองทรัพย์สินไว้ให้เจ้าหนี้ เจตนาของลูกหนี้ในการทำหนังสือประกันก็เพื่อทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาตามกระบวนการที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่มีข้อความใดในหนังสือประกันที่แสดงให้เห็นว่าลูกหนี้ทำหนังสือประกันดังกล่าวเพื่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ หนี้ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้มีมูลหนี้มาจากสัญญาจ้างทำของที่ลูกหนี้จ้างเจ้าหนี้ผลิตงานโฆษณาโดยทำเป็นวิดีโอเพื่อเผยแพร่ภาพและเสียงทางสถานีโทรทัศน์ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับค่าจ้างตอบแทนเท่านั้น หาใช่เป็นคุณแก่เจ้าหนี้เกี่ยวด้วยห้องชุดที่ลูกหนี้นำมาวางเป็นประกันแต่อย่างใด เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงห้องชุดดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของเจ้าหนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share