คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6257/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ยอดหนี้ตามฟ้องโจทก์มีดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะอันเป็นมูลหนี้ที่ผิดกฎหมายรวมอยู่ด้วย กรณีถือได้ว่าหนี้ของโจทก์ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้ล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 9 (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 1,500,000 บาท ครบกำหนดชำระหนี้ในวันที่ 1 มีนาคม 2547 และจำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 1 มีนาคม 2547 จำนวนเงิน 1,500,000 บาท เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ แต่เมื่อถึงกำหนดใช้เงินตามเช็ค โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ จำเลยยังเป็นหนี้บุคคลอื่นตามคำพิพากษาของศาลแขวงพระนครเหนือ คดีหมายเลขแดงที่ 10739/2547 และไม่มีทรัพย์อย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ ทั้งจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้จากโจทก์รวม 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่ไม่ชำระหนี้ คิดถึงวันฟ้องจำเลยค้างชำระหนี้โจทก์ 1,575,000 บาท ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินหลายครั้งโดยไม่คิดดอกเบี้ย เงินที่ให้จำเลยกู้ยืมมีทั้งเงินส่วนตัวของจำเลยเองและของบุคคลอื่นซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยตามสัญญา แต่จำเลยไม่มีให้ โจทก์ต้องชำระแทนไป หลังจากนั้นในวันที่ 25 ธันวาคม 2546 โจทก์กับจำเลยได้ตกลงกันเป็นหนี้จำนวน 1,500,000 บาท และให้นายเรืองศักดิ์ทำสัญญากู้ยืมเงินให้ตามเอกสารหมาย จ.1 นั้น แตกต่างกับที่โจทก์ให้การต่อพนักงานสอบสวนในสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 857/2547 ตามเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งให้การไว้ความว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 จำเลยขอกู้เงินจากโจทก์จำนวน 1,500,000 บาท กำหนดใช้เงินคืนในวันที่ 1 มีนาคม 2547 โจทก์ตกลง จึงได้ทำสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นหลักฐานและในวันเดียวกันจำเลยสั่งจ่ายเช็คตามเอกสารหมาย จ.2 มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้จากรายละเอียดในการให้จำเลยกู้ยืมเงินตามบันทึกถ้อยคำฯ และคำให้การของโจทก์ที่แตกต่างกันดังกล่าว ทำให้มีข้อพิรุธสงสัยไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ซึ่งไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อนจะให้จำเลยกู้ยืมเงินเป็นจำนวนมากโดยไม่คิดดอกเบี้ย ในขณะที่โจทก์เองต้องยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่เพื่อนหรือผู้อื่นที่เป็นเจ้าของเงินที่โจทก์นำมาให้จำเลยกู้ยืมทั้งรายละเอียดการกู้ยืมเงินน่าเชื่อว่ามีการกู้ยืมกันหลายครั้ง มิใช่ครั้งเดียวดังที่ปรากฏในคำให้การของโจทก์ต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.12 ดังกล่าว นอกจากนี้จำเลยยังอ้างส่งเอกสารหมาย ล.1 เป็นพยานต่อศาล ซึ่งโจทก์เบิกความยอมรับว่าเป็นเอกสารที่โจทก์เขียนให้เพราะจำเลยชำระหนี้ด้วยเช็คลงวันที่ล่วงหน้าและมียอดหนี้รวม 691,300 บาท เมื่อตรวจดูเอกสารหมาย ล.1 ดังกล่าวจะมียอดเงินหลายรายการ รายการแรกระบุว่า ลงวันที่ 7 กันยายน 2546 ยอด 144,000 บาท ดอกเบี้ยค้าง 2 เดือน 16,000 บาท รวม 160,000 บาท สำหรับยอดเงินในรายการแรกนี้สอดคล้องกับที่จำเลยเบิกความว่ากู้ยืมเงินโจทก์ครั้งแรก 80,000 บาท บวกดอกเบี้ยที่ไม่ได้จ่าย 8 เดือน เป็นเงิน 144,000 บาท กับดอกเบี้ยเดือนละ 8,000 บาท อีก 2 เดือน รวมเป็นเงิน 160,000 บาท รายการที่สอง ลงวันที่ 8 กันยายน 2546 ยอด 10,000 บาท ดอกเบี้ยค้าง 2 เดือน 2,000 บาท รวม 12,000 บาท รายการที่สาม ลงวันที่ 25 กันยายน 2546 ยอด 55,000 บาท ดอกเบี้ยค้าง 1 เดือน 5,000 บาท รวม 60,000 บาท รายการที่สี่ ลงวันที่ 1 ตุลาคม ยอด 44,000 บาท ดอกเบี้ย 1 เดือน 4,000 บาท รวม 48,000 บาท รายการที่ห้า ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน ยอด 75,000 บาท ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน ยอด 264,000 บาท และลงวันที่ 5 พฤศจิกายน ยอด 72,300 บาท และมียอดรวมเท่ากับ 691,300 บาท เห็นได้ว่า ดอกเบี้ยค้างในรายการที่หนึ่งและสองของเอกสารหมาย ล.1 ดังกล่าวมีการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนตามที่จำเลยเบิกความจริง ส่วนรายการที่สามและที่สี่ คิดดอกเบี้ยร้อยละ 9 ต่อเดือน ซึ่งล้วนแต่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ทั้งยังสอดคล้องกับเอกสารหมาย ล.2 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในข้อหาออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 โดยพนักงานอัยการวินิจฉัยว่า มีการคิดดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด แล้วมีการคิดต้นเงินและดอกเบี้ยรวมเข้าไว้ในยอดเงินกู้ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 จำเลยออกเช็คตามเอกสารหมาย จ.2 ที่รวมดอกเบี้ยที่สูงกว่ากฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้อันเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินจากที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 จำเลยจึงไม่มีความผิดอีกด้วย พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบหักล้างดังกล่าวฟังได้ว่า มูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 รวมดอกเบี้ยส่วนที่เกินจากกฎหมายกำหนดไว้ จำเลยจึงมิได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ยอดหนี้ตามฟ้องโจทก์มีดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะอันเป็นมูลหนี้ที่ผิดกฎหมายรวมอยู่ด้วย กรณีถือได้ว่าหนี้ของโจทก์ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share