คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5326/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ คดีแดงที่ 5326-5327/2542 ++
แม้คำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ของโจทก์จะระบุว่า มิได้ประสงค์ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ แต่ประสงค์ขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลจะกำหนดให้ก็ตาม แต่ผลของการขอก็คือขออนุญาตอุทธรณ์เมื่อพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั่นเอง ถือว่าคำร้องของโจทก์ทั้งสองเป็นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มาตรา 26 บัญญัติเรื่องการขยายระยะเวลาไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำป.วิ.พ.มาตรา 23 มาอนุโลมใช้ได้
ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนด ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามมาตรา 26 ซึ่งมิได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะต้องมีเหตุสุดวิสัยอันไม่อาจก้าวล่วงได้หรือต้องมีพฤติการณ์พิเศษเช่นที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 23 ไม่ ดังนั้น ถ้าโจทก์ไม่อาจคัดคำพิพากษาศาลแรงงานเพื่อใช้ประกอบในการเขียนอุทธรณ์เนื่องจากยังพิมพ์ไม่เสร็จ ย่อมเป็นความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ก็สมควรขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้โจทก์ได้ แต่คำพิพากษาศาลแรงงานยังพิมพ์ไม่เสร็จตามที่โจทก์อ้างจริงหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานจะต้องไต่สวนแล้วมีคำสั่งต่อไป ที่ศาลแรงงานยกคำร้องของโจทก์โดยไม่ไต่สวนว่ามีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาอุทธรณ์หรือไม่ จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพร้อมเงินเพิ่มและดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองและออกหนังสือรับรองการทำงานให้แก่โจทก์ที่ ๑
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การและฟ้องแย้งเรียกเงินคืน ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ทั้งสองชดใช้เงินคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามกฎหมายนับตั้งแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าชำระเสร็จ
โจทก์ทั้งสองสำนวนให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้องแย้งจำเลย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง ๓๗,๓๓๓ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ และออกใบสำคัญแสดงการทำงานของโจทก์ที่ ๑ ให้โจทก์ที่ ๒ ชำระเงิน ๒๓,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์อ้างว่า คำพิพากษาศาลแรงงานกลางยังพิมพ์ไม่เสร็จ โจทก์ทั้งสองไม่สามารถคัดคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเพื่อทำอุทธรณ์ ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์พิเศษและเหตุนี้ดำเนินมาจนพ้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์กรณีเป็นเหตุขัดขวางให้โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจึงขอยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลจะกำหนดให้
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า กรณีไม่ใช่เหตุสุดวิสัยอันไม่อาจก้าวล่วงได้ จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า แม้คำร้องของโจทก์ทั้งสองจะระบุว่า มิได้ประสงค์ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ แต่ประสงค์ขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลจะกำหนดให้ก็ตาม แต่ผลของการขอก็คือขออนุญาตอุทธรณ์เมื่อพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั่นเอง ถือว่าคำร้องของโจทก์ทั้งสองเป็นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ทั้งสองว่า คดีมีเหตุขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๖ บัญญัติเรื่องการขยายระยะเวลาไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา๒๓ มาอนุโลมใช้ตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ มาตรา ๒๖ แห่งบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่า ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนด ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หาได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะต้องมีเหตุสุดวิสัยอันไม่อาจก้าวล่วงได้หรือต้องมีพฤติการณ์พิเศษเช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓ ไม่ ดังนั้น ถ้าโจทก์ทั้งสองไม่อาจคัดคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเพื่อใช้ประกอบในการเขียนอุทธรณ์เนื่องจากยังพิมพ์ไม่เสร็จ ย่อมเป็นความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมก็สมควรขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้โจทก์ทั้งสองได้ แต่คำพิพากษาศาลแรงงานกลางยังพิมพ์ไม่เสร็จตามที่โจทก์ทั้งสองอ้างเป็นข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานกลางจะต้องไต่สวนแล้วมีคำสั่งต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางยกคำร้องของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ไต่สวนว่ามีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาอุทธรณ์และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมหรือไม่นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลางที่สั่งยกคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดให้ของโจทก์ทั้งสองสำนวน ให้ศาลแรงงานกลางไต่สวนคำร้องดังกล่าวแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี.

Share