แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดระบุชื่อพ. และหรือบริษัท ก. (โจทก์) ผู้รับประเมิน ย่อมหมายถึงว่าพ. หรือโจทก์คนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนตามที่มีชื่อระบุไว้ในเอกสารดังกล่าว อยู่ในฐานะผู้รับประเมิน โจทก์จึงเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะพึงชำระค่าภาษีตามที่พนักงานเก็บภาษีแจ้งรายการประเมินไปให้ทราบและมีหน้าที่ชำระค่าภาษีตาม พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ถือได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เอกสารแนบท้ายสัญญาเช่ามีการระบุทั้งค่าเช่าและค่าบริการแยกไว้ชัดเจนทุกฉบับถือได้ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่า ย่อมรับฟังได้ หาจำต้องระบุไว้ในสัญญาประธานว่ามีข้อสัญญาได้กำหนดให้มีเอกสารแนบท้ายสัญญา โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประธานนั้นไม่ และสัญญาเช่าคดีนี้ จำเลยไม่มีพยานมานำสืบให้เห็นว่าค่าเช่ารายพิพาทนี้ ไม่ใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนฯ มาตรา 8 กรณีจึงไม่มีเหตุ บ่งชี้ให้เห็นว่าค่าเช่าตามเอกสารแนบท้ายสัญญาเช่าอาคาร ตามฟ้องไม่ใช่จำนวนอันสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในการคำนวณภาษีซึ่งจะต้องเสียค่ารายปีจึงต้องถือตาม จำนวนค่าเช่าที่โจทก์รับมาตามเอกสารแนบท้ายสัญญาเช่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินเรียกเก็บ ค่ารายปีโดยถือเอาค่าเช่าและค่าบริการรวมอยู่ด้วยนั้น จึงไม่ถูกต้อง การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และ คำชี้ขาดของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินส่วนที่เกินจากการประเมินใหม่ทั้งหมดให้แก่โจทก์ภายใน3 เดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษานี้ หมายถึงนับแต่วัน อ่านคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางนั้น เมื่อคดีนี้ไม่ได้ ถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง คำพิพากษา ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนฯ มาตรา 39 วรรคสองปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบศาลฎีกาสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง คือให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีให้โจทก์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินและเพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าภาษีเพียง 380,340 บาท และให้คืนเงินที่โจทก์ชำระค่าภาษีจำนวน 1,294,592.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่โจทก์ชำระแก่จำเลยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลภาษีอากรกลางตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินและคำชี้ขาดของจำเลยที่ 1 ในปีภาษี 2534กับ 2539 โดยให้ประเมินค่ารายปีและค่าภาษีของอาคารโจทก์ใหม่ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินส่วนที่เกินจากการประเมินใหม่ทั้งหมดให้แก่โจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษานี้ ถ้าไม่คืนในกำหนดดังกล่าวให้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันครบกำหนด 3 เดือนจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า โจทก์ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2534 ถึง 2536 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 19 ถึง 27 ภายในกำหนดระยะเวลาในแต่ละปีภาษีต่อมาปี 2537 ถึง 2540 โจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินภายในกำหนดระยะเวลาในแต่ละปี แต่ได้มายื่นพร้อมกันในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2540 ตามเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 28 ถึง 39 จำเลยที่ 3 ได้ประเมินค่ารายปีสำหรับโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2534 ถึง 2540 รวม 7 ปี เป็นเงิน 12,181,325 บาท แล้วแจ้งให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเงิน 1,522,665.63 บาทตามใบแจ้งการประเมินเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 128 ถึง 134 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ จำเลยที่ 1 พิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่แล้วเห็นชอบด้วยกับการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 127 โจทก์ได้ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมเงินเพิ่มแล้วตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 113 ถึง 126 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยที่ 1 และที่ 3 ประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ว่าโจทก์มิใช่เจ้าของโรงเรือนพิพาทแต่เป็นของนายพิฑูร กอเทพวัลย์ แม้การประเมินจะเป็นชื่อโจทก์ แต่ก็ไม่ถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมาย เห็นว่า ตามใบแจ้งรายการประเมินเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 128 ถึง 134 และใบแจ้งคำชี้ขาดเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 127 ทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าวระบุชื่อนายพิฑูร กอเทพวัลย์ และหรือบริษัทกอเทพวัลย์ จำกัด (โจทก์) ผู้รับประเมินย่อมหมายถึงว่านายพิฑูรหรือโจทก์คนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนตามที่มีชื่อระบุไว้ในเอกสารดังกล่าวอยู่ในฐานะผู้รับประเมินโจทก์จึงเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะพึงชำระค่าภาษีตามที่พนักงานเก็บภาษีแจ้งรายการประเมินไปให้ทราบและมีหน้าที่ชำระค่าภาษี ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ถือได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต่อไปมีว่าการประเมินเรียกเก็บภาษีและคำชี้ขาดดังกล่าวชอบหรือไม่ในปัญหาข้อนี้เห็นว่า โจทก์ขอเสียค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีดังกล่าว โดยคิดค่ารายปีจากจำนวนค่าเช่าอาคารที่โจทก์ให้เช่าได้ซึ่งมีระบุไว้ละเอียดในเอกสารแนบท้ายสัญญาเช่าทุกฉบับเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 1 และที่ 3 โต้แย้งว่าเอกสารแนบท้ายสัญญาเช่าที่โจทก์อ้างนั้นมิใช่ส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าเพราะตามสัญญาเช่ามิได้ระบุอ้างไว้แต่ประการใด ทั้งโจทก์ทำขึ้นภายหลังรับฟังไม่ได้ ศาลฎีกาได้พิจารณาเอกสารแนบท้ายสัญญาเช่ามีข้อความว่า เอกสารนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าและโจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าและผู้เช่าทุกรายได้ลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารนี้ด้วยในสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.3 โจทก์ทำสัญญาเช่ากับผู้เช่าครั้งแรกในปี 2534 ในปีต่อมาได้ทำสัญญาใหม่กับผู้เช่าปีต่อปีตามงบกำไรขาดทุนและงบกำไรสะสมปี 2533 เอกสารหมาย จ.2แผ่นที่ 188 และในปี 2534 ถึง 2539 ตามเอกสารหมาย จ.4แสดงให้เห็นได้ว่ารายได้ของโจทก์มาจากค่าเช่าและค่าบริการรวมอยู่ด้วยในรายการเดียวกันทุกปี นอกจากนั้นใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ออกให้แก่ผู้เช่าตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นไป ตามเอกสารหมาย จ.5 ทุกฉบับได้เขียนแยกค่าเช่าและค่าบริการออกจากกันตรงกับที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาเช่าทุกฉบับ และโจทก์ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนค่าบริการจากผู้เช่าไว้ด้วยสำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์ได้ออกใบกำกับภาษีและรายงานภาษีขายตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 จึงเห็นได้ชัดแจ้งว่า เอกสารแนบท้ายสัญญาเช่าซึ่งมีการระบุทั้งค่าเช่าและค่าบริการแยกไว้ชัดเจนทุกฉบับ ถือได้ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าย่อมรับฟังได้ หาจำต้องระบุไว้ในสัญญาประธานว่ามีข้อสัญญาได้กำหนดให้มีเอกสารแนบท้ายสัญญาโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประธานนั้น ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ไม่ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8 กำหนดให้คิดค่าภาษีตามค่ารายปีของทรัพย์สินและค่ารายปีให้หมายความว่าจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้น ๆ สมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ เท่าใด ถ้าทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ใช้ค่าเช่าเป็นหลักคำนวณค่ารายปี แต่ถ้ามีเหตุอันบ่งให้เห็นว่า ค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควร พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจแก้หรือคำนวณค่ารายปีเสียใหม่ได้ สำหรับสัญญาเช่าคดีนี้ จำเลยไม่มีพยานมานำสืบให้เห็นว่า ค่าเช่ารายพิพาทนี้มิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ กรณีจึงไม่มีเหตุบ่งชี้ให้เห็นว่าค่าเช่าตามเอกสารแนบท้ายสัญญาเช่าอาคารตามฟ้องมิใช่จำนวนอันสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในการคำนวณภาษีซึ่งจะต้องเสียค่ารายปี จึงต้องถือตามจำนวนค่าเช่าที่โจทก์รับมาตามเอกสารแนบท้ายสัญญาเช่า ดังนั้นการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินเรียกเก็บค่ารายปีโดยถือเอาค่าเช่าและค่าบริการรวมอยู่ด้วยนั้นจึงไม่ถูกต้องการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมาย ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินกับคำชี้ขาดของจำเลยที่ 1 ในปีภาษี 2534กับ 2539 นั้น เห็นว่า ศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยที่ 1 ในปีภาษี 2534 ถึง 2539โดยให้ทำการประเมินใหม่ทั้งหมด ดังนั้น คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางในข้อนี้จึงมีข้อผิดหลงเล็กน้อย ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง และเมื่อปรากฏว่าศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยแต่เพียงว่าการประเมินของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในปีภาษี 2534 กับ 2539 ไม่ชอบ โดยมิได้พิจารณาพิพากษาเลยว่าการประเมินในปีภาษี 2540 ชอบหรือไม่ แล้วมีคำพิพากษาให้ยกคำขออื่นของโจทก์ คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางจึงกระทบสิทธิของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เพียงการประเมินในปีภาษี 2534 ถึง 2539 เท่านั้น ที่จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยเสียค่าขึ้นศาลจากทุนทรัพย์ 1,294,592 บาท จึงเป็นทุนทรัพย์ที่รวมเอาการประเมินที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 คิดเกินไปในปีภาษี 2540 จำนวน 212,758 บาท เข้าไว้ด้วย จึงสมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เสียเกินมาจำนวน 5,320 บาท แก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 นอกจากนี้ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินส่วนที่เกินจากการประเมินใหม่ทั้งหมดให้แก่โจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษานี้ซึ่งหมายถึงนับแต่วันอ่านคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางนั้น เมื่อได้ความว่าคดีนี้มิได้ถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 39 วรรคสอง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง คือให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีให้โจทก์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินและคำชี้ขาดของจำเลยที่ 1 ในปีภาษี 2534 ถึง 2539โดยให้ประเมินค่ารายปีและค่าภาษีของอาคารโจทก์ใหม่ ให้จำเลยที่ 1คืนเงินส่วนที่เกินจากการประเมินใหม่ทั้งหมดให้แก่โจทก์ภายใน3 เดือน นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด ถ้าไม่คืนในกำหนดดังกล่าวให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันครบกำหนด 3 เดือน จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 5,320 บาท แก่จำเลยที่ 1 และที่ 3ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง