แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยผู้จำนองและโจทก์ผู้รับจำนองได้ทำหนังสือมอบอำนาจ โดยจำเลยยอมโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์จำนอง ให้แก่โจทก์เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 711 นั้น ย่อมมีผลเพียงทำให้ข้อตกลงดังกล่าวไม่สมบูรณ์โดยโจทก์จะบังคับหรือ ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้เท่านั้น หามีผลทำให้นิติกรรม การจดทะเบียนจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยในส่วนอื่น ที่กระทำโดยชอบต้องเสียไปหรือไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่า จำเลยยังมิได้ชำระหนี้และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง สัญญาจำนอง ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังมีผลใช้บังคับได้ โจทก์ย่อมมี อำนาจฟ้องจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,923,050 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 1,560,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนวนนำที่ดินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้หากไม่พอชำระหนี้ ให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์จนกว่าจะได้รับชำระหนี้จนครบถ้วน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน1,560,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่10 มีนาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 1,363,050 บาท (ฟ้องวันที่ 10 มกราคม 2537)หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดเลขที่ 3542 ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้หากไม่พอชำระหนี้ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยจนครบถ้วน
จำเลยอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้จึงชอบแล้วสำหรับปัญหาข้อต่อไปว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น จำเลยฎีกาอ้างว่า การที่โจทก์ทำสัญญาจำนองโดยมีข้อตกลงว่าจะโอนที่ดินจำนองให้แก่โจทก์เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 711 และศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างจำเลยกับโจทก์แล้ว โดยวินิจฉัยว่าการจำนองและนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวไม่สมบูรณ์ สัญญาจำนองจึงเท่ากับเป็นโมฆะเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้นศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยผู้จำนองและโจทก์ผู้รับจำนองได้ทำหนังสือมอบอำนาจโดยจำเลยยอมโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์จำนองให้แก่โจทก์เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 711 นั้น ย่อมมีผลเพียงทำให้ข้อตกลงดังกล่าวนั้นไม่สมบูรณ์โดยโจทก์จะบังคับหรือปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้เท่านั้น หามีผลทำให้นิติกรรมการจดทะเบียนจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยในส่วนอื่นที่กระทำโดยชอบต้องเสียไปหรือไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่าจำเลยยังมิได้ชำระหนี้และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง สัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังมีผลใช้บังคับได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน