คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1694/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 วรรคสิบสองและ 10 ทวิวรรคแรก ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับสินค้าที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำเข้าสำเร็จ และการคำนวณภาษีต้องถือตามสภาพของราคาของและพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่นำสินค้าเข้ามาในประเทศไทย ส่วนราคาสินค้าที่จะคำนวณภาษีก็ต้องถือตามราคาขายส่งเงินสด โดยไม่รวมค่าอากร ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลา และที่ที่นำของเข้า โดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะซื้อสินค้าเหล่านั้นมาตามราคาที่แจ้งในใบกำกับสินค้าก็ตาม จำเลยทั้งสองก็รับว่าสินค้าที่จำเลยทั้งสองซื้อมานั้น ผู้ขายลดราคาเพื่อให้หมดไปจากสต๊อกของผู้ขายซึ่งแสดงว่าราคาสินค้าที่จำเลยทั้งสองซื้อมามิใช่ราคาตามปกติ ย่อมจะถือเป็นราคาสินค้าที่นำเข้าเพื่อคำนวณภาษีหาได้ไม่ เพราะมิใช่ราคาขายส่งเงินสดซึ่งจะพึงขายณ เวลาและที่ที่นำของเข้าโดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคา นอกจากนี้สินค้าบางส่วนมีเครื่องหมายการค้าไม่ตรงกับที่จำเลยทั้งสองสำแดงไว้ในใบกำกับสินค้า เมื่อราคาสินค้าที่จำเลยทั้งสองสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่ำไป เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินราคาใหม่ได้ ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 ได้ประเมินราคาใหม่ โดยเปรียบเทียบกับบัญชีราคาสินค้าที่ตัวแทนจำหน่ายสินค้าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยนำเข้าแจ้งราคาไว้ต่อกรมศุลกากรเมื่อปี 2523 แม้จะเป็นราคาก่อนเวลาที่จำเลยทั้งสองนำเข้า แต่เป็นบัญชีราคาสินค้าที่มีผลใช้ได้จนถึงขณะที่จำเลยทั้งสองนำสินค้าเข้าดังนั้น จึงถือได้ว่าเป็นราคา ณ เวลาที่นำของเข้า ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินก็ถือเป็นหลักปฏิบัติทั่วไป มิใช่เลือกปฏิบัติเฉพาะจำเลยทั้งสอง การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1จึงเป็นการปฏิบัติโดยมีหลักเกณฑ์ภายในขอบอำนาจถูกต้องตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2524 จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการนำหลอดไฟและอะไหล่รถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงราคาสินค้าเป็นเงิน 73,947.86 บาท ต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดและสินค้าที่จำเลยทั้งสองนำเข้าบางส่วนมีเครื่องหมายการค้าและหมายเลขกำกับแตกต่างกับที่จำเลยทั้งสองนำเข้าเพิ่มอีก 214,980.28 บาท จำเลยทั้งสองเพิกเฉยและมิได้อุทธรณ์การประเมิน จึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าเงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินภาษีอากรจำนวน 137,486.12 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า อะไหล่รถยนต์ที่จำเลยทั้งสองนำเข้าบางส่วนมีเครื่องหมายการค้าแตกต่างไปจากใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า เพราะจำเลยทั้งสองนำเข้ามาเป็นจำนวนมากส่วนหมายเลขกำกับอะไหล่ยานยนต์ที่จำเลยทั้งสองสำแดงเป็นหมายเลขกำกับอะไหล่ยานยนต์ชุดใหญ่ จำเลยทั้งสองสำแดงไว้เป็นการรวม ราคาที่จำเลยทั้งสองสำแดงเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จำเลยทั้งสองได้อุทธรณ์การประเมินและยังไม่มีการวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคแรก ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 5บัญญัติว่า “ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับของมาตรา 87 และมาตรา 88 การคำนวณค่าภาษีให้ถือตามสภาพของราคาของ และพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่ความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีเกิดขึ้น…ฯลฯ” และมาตรา 2 วรรคสิบสองบัญญัติว่า คำว่า “ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด” หรือ “ราคา”แห่งของอย่างใดนั้น หมายความว่า ราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลา และที่ที่นำของเข้าหรือส่งออกแล้วแต่กรณีโดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า ความรับผิดของจำเลยทั้งสองในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับสินค้าที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำเข้าสำเร็จ และการคำนวณภาษีต้องถือตามสภาพของราคาของ และพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่จำเลยทั้งสองนำสินค้าเข้ามาในประเทศไทย ส่วนราคาสินค้าที่จะคำนวณภาษีก็ต้องถือตามราคาขายส่งเงินสดโดยไม่รวมค่าอากรซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้า โดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด ดังนั้นแม้จำเลยทั้งสองจะซื้อสินค้าเหล่านั้นมาตามราคาที่แจ้งในใบกำกับสินค้าก็ตาม จำเลยทั้งสองก็นำสืบรับว่าสินค้าที่จำเลยทั้งสองซื้อมานั้น ผู้ขายลดราคาเพื่อให้หมดไปจากสต็อกของผู้ขาย ซึ่งแสดงว่าราคาสินค้าที่จำเลยทั้งสองซื้อมามิใช่ราคาตามปกติ ย่อมจะถือเป็นราคาสินค้าที่นำเข้าเพื่อคำนวณภาษีหาได้ไม่ เพราะมิใช่ราคาขายส่งเงินสดซึ่งจะพึงขาย ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าโดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคา นอกจากนี้ยังได้ความว่าสินค้าบางส่วนมีเครื่องหมายการค้าไม่ตรงกับที่จำเลยทั้งสองสำแดงไว้ในใบกำกับสินค้าอีกด้วยเมื่อราคาสินค้าที่จำเลยทั้งสองสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่ำไป เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินราคาใหม่ได้ ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 ได้ประเมินราคาใหม่โดยเปรียบเทียบกับบัญชีราคาสินค้าที่ตัวแทนจำหน่ายสินค้าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยนำเข้าแจ้งราคาไว้ต่อกรมศุลกากรเมื่อปี 2523 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 37 ถึง 44 แม้จะเป็นราคาก่อนเวลาที่จำเลยทั้งสองนำเข้า ก็ได้ความจากนายณรงค์งามไพโรจน์พิบูลย์ เจ้าพนักงานประเมินว่า เป็นบัญชีราคาสินค้าที่มีผลใช้ได้จนถึงขณะที่จำเลยทั้งสองนำสินค้าเข้า ดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นราคา ณ เวลาที่นำของเข้า ทั้งเจ้าพนักงานประเมินก็ถือเป็นหลักปฏิบัติทั่วไป มิใช่เลือกปฏิบัติเฉพาะจำเลยทั้งสองการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการปฏิบัติโดยมีหลักเกณฑ์ภายในขอบอำนาจถูกต้องตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 แล้ว
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินภาษีอากรจำนวน137,486.12 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง

Share