แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ถูกกล่าวหาเรียกและรับเงินจากผู้กล่าวหาและจำเลยเพื่อนำไป วิ่งเต้นพนักงานอัยการและเจ้าพนักงานตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจโดยไม่ปรากฏว่าจะนำเงินไปให้ผู้พิพากษาเพื่อเป็นอามิสสินจ้างในการดำเนินคดีในศาล และไม่ปรากฏว่ามีการมอบเงินให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาในบริเวณศาลแม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะมีจุดมุ่งหมายให้เกิดผลแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล แต่เมื่อการกระทำของผู้ถูกกล่าวหามิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาลแล้ว จะอาศัยแต่ผลจากการกระทำที่อาจก่อให้ เกิดผลเสียหายแก่รูปคดีมาชี้ขาดว่าผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลไม่ได้
เมื่อพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนของศาลชั้นต้นไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้มีผลไปถึงผู้ถูกกล่าวหาอื่นที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาได้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
มูลคดีสืบเนื่องมาจากนางทัศนีย์ ดวงมาลา ผู้กล่าวหาซึ่งเป็นภริยาของนายมนตรี พันธุ์แตง จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 831/2540ของศาลชั้นต้น ร้องเรียนกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองต่อผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสุพรรณบุรีว่าในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองร่วมกันหลอกลวงเอาเงินจำนวน 130,000 บาท จากผู้กล่าวหาอ้างว่าจะช่วยเหลือมิให้จำเลยได้รับโทษจำคุกโดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองร่วมกันเรียกเงินจากผู้กล่าวหาในบริเวณศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ขณะเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมผู้ต้องหาและจำเลยที่ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้กล่าวหาหลงเชื่อยอมจ่ายเงินให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองเป็นเงิน 130,000 บาท ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ผู้กล่าวหาได้ขอเงินคืนจากผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1คืนเงินให้ผู้กล่าวหา 30,000 บาท ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ยังไม่คืนเงินให้ผู้กล่าวหา
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองร่วมกันเรียกและรับเงินจากจำเลยและผู้กล่าวหาภายในบริเวณศาลจังหวัดสุพรรณบุรีหลังจากที่จำเลยถูกลงโทษจำคุกแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 คืนเงินให้ผู้กล่าวหา30,000 บาท ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 คืนให้ 50,000 บาท ถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) มีคำสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 33 จำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีกำหนด 3 เดือน จำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีกำหนด 3 เดือน และปรับ 500 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 24พฤศจิกายน 2538 จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาต และถูกพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีฟ้องในข้อหาดังกล่าว ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองได้เรียกและรับเงินจากจำเลยและผู้กล่าวหาหลายครั้ง รวมเป็นเงิน 130,000บาท โดยอ้างว่าจะนำไปใช้จ่ายในการวิ่งเต้นคดีเพื่อไม่ให้จำเลยต้องรับโทษจำคุก แต่ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้คืนเงินให้แก่ผู้กล่าวหา 30,000 บาทผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 คืนเงินให้ผู้กล่าวหา 50,000 บาท ส่วนเงินอีก 50,000 บาทที่ผู้กล่าวหาและจำเลยยังไม่ได้รับคืน ผู้กล่าวหาไม่ติดใจเรียกร้องโดยให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายของทนายความ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เรียกและรับเงินจากผู้กล่าวหาและจำเลยในบริเวณศาลจังหวัดสุพรรณบุรีจริงหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวเห็นว่าคำเบิกความของผู้กล่าวหามีพิรุธไม่น่ารับฟังประกอบกับผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองเบิกความในชั้นไต่สวนปฏิเสธว่าไม่เคยรับเงินจากผู้กล่าวหาและจำเลยในบริเวณศาลจังหวัดสุพรรณบุรีแต่อ้างว่าจำเลยเคยนำเงินไปมอบให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่บ้านพักของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่อำเภอด่านช้างจังหวัดสุพรรณบุรี 80,000 บาท และนำไปมอบให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่บ้านพักที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรี อีก 30,000 บาท กรณีจึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้กล่าวหาได้มอบเงินให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองในบริเวณศาลจังหวัดสุพรรณบุรีตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา
อนึ่ง ตามทางไต่สวนของศาลชั้นต้นข้อเท็จจริงได้ความจากถ้อยคำของผู้กล่าวและผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองตรงกันว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองเรียกและรับเงินจากผู้กล่าวหาและจำเลยเพื่อนำไปวิ่งเต้นพนักงานอัยการและเจ้าพนักงานตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจ โดยไม่ปรากฏว่าจะนำเงินไปให้ผู้พิพากษาเพื่อเป็นอามิสสินจ้างในการดำเนินคดีในศาล ดังนั้นแม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองจะมีจุดมุ่งหมายให้เกิดผลแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล อันอาจเกิดผลเสียหายแก่คู่ความและประชาชน สมควรอย่างยิ่งที่จะลงโทษให้หลาบจำก็ตาม แต่เมื่อการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาลแล้ว จะอาศัยแต่ผลจากการกระทำที่อาจก่อให้เกิดผลเสียหายแก่รูปคดีมาชี้ขาดว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลจังหวัดสุพรรณบุรีไม่ได้การที่พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนของศาลชั้นต้นไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้มีผลไปถึงผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาได้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ประกอบมาตรา 225”
พิพากษากลับว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1), 33