แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1114 ที่ได้บัญญัติห้ามมิให้ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นฟ้องร้องขอให้ศาลเพิกถอนการที่ตนได้เข้าชื่อซื้อ โดยยกเหตุว่าสำคัญผิดหรือต้องข่มขู่หรือถูกลวงล่อฉ้อฉลนั้น ห้ามเฉพาะในกรณีที่ฟ้องร้องกันในทางแพ่งเท่านั้น มิได้มีผลห้ามมิให้ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นฟ้องในคดีอาญาฐานฉ้อโกง ฉะนั้น ผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการ ในเมื่อมีการร้องทุกข์ จึงมีอำนาจดำเนินคดีกับจำเลยได้
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนมีข้อความทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงประชาชนขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 343, 83 ให้จำเลยร่วมกันคืนเงิน 141, 700 บาท และโฉนด ส.ค.1 (ในสำนวนแรก) และคืนเงิน 9,850 บาท และ ส.ค.1 (ในสำนวนที่ 2)ให้ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 343, 83 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนรวมกันมีกำหนด 3 ปี ให้คืนเงิน 141,700 บาท และโฉนดส.ค.1 และเงิน 9,850 บาท ส.ค.1 ให้ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกา (ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343) วินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าเมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1114 ห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อซื้อหุ้นฟ้องร้องขอให้ศาลเพิกถอนการที่ตนได้เข้าชื่อซื้อ โดยยกเหตุว่าสำคัญผิดหรือต้องข่มขู่ หรือถูกลวงล่อฉ้อฉล ย่อมมีผลห้ามมิให้ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นฟ้องว่าถูกหลอกลวงในคดีอาญาด้วยนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติห้ามเฉพาะกรณีที่ฟ้องร้องกันในทางแพ่ง แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นในทางอาญา ผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการในเมื่อมีการร้องทุกข์มีอำนาจดำเนินคดีกับจำเลยได้
พิพากษายืน