แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 5, 6 ซึ่งบัญญัติให้ผู้มีอาวุธปืนบางชนิดซึ่งยังมิได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายหรือยังมิได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจอนุญาตได้ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ มาขอรับอนุญาตเพื่อปฏิบัติการให้ถูกต้องตามกฎหมายภายในกำหนดเวลาโดยไม่ต้องรับโทษนั้นหมายความถึงอาวุธปืนที่ยังไม่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ฉะนั้น เมื่อได้ความว่าจำเลยมีอาวุธปืนที่มีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในความครอบครองโดยไม่รับอนุญาตก็ไม่มีเหตุจะอ้างว่า จำเลยไม่ต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้
(เทียบฎีกาประชุมใหญ่ที่ 295/2513)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง จำเลยรับสารภาพ ฟังได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนลูกซองเดี่ยวและอาวุธปืนแก๊ปประจุปาก จำนวน 2 กระบอก ซึ่งได้จดทะเบียนและมีเลขหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ อันเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่นไว้ในครอบครองของจำเลยโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 5 วรรค 1 บัญญัติว่า “ผู้ใดมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ไม่ว่าชนิดหรือขนาดใดที่ทำจากภายนอกราชอาณาจักรโดยโรงงานที่ได้รับอนุญาต หรือปืนแก๊ปที่มีคุณภาพใช้ได้โดยปลอดภัย ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าได้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด หรือปืนแก๊ปดังกล่าวแล้ว มาขอรับอนุญาตเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ ต่อนายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนด 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ” จึงต้องถือว่าในระหว่างนั้นกฎหมายยกเว้นโทษแก่ผู้มีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตเพราะตามบทบัญญัติข้างต้นมิได้จำกัดแต่เฉพาะอาวุธปืนที่ไม่ได้จดทะเบียนไว้เท่านั้น และการที่จำเลยมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มี ก็เท่ากับมีปืนไว้โดยยังไม่ได้รับอนุญาตนั้นเอง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 5 วรรค 1 และมาตรา 6 บัญญัติยกเว้นโทษให้แก่ผู้มีอาวุธปืนฯ ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายและยกเว้นโทษให้ผู้มีอาวุธปืนซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจอนุญาตได้ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ ถ้านำปืนมาขอรับอนุญาตหรือนำมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนด มิได้จำกัดแต่เฉพาะบุคคลมีอาวุธปืนที่ไม่ได้จดทะเบียนเท่านั้น จำเลยในคดีนี้มีอาวุธปืนที่จดทะเบียนแล้วไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและถูกฟ้องระหว่างกำหนด 90 วันตามที่กฎหมายเปิดโอกาสให้นำอาวุธปืนมาขอรับอนุญาตหรือนำปืนมามอบให้นายทะเบียนท้องที่จำเลยย่อมได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับโทษด้วย พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติให้ผู้มีอาวุธปืนบางชนิดซึ่งยังมิได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้ามาขอรับอนุญาตเพื่อปฏิบัติการให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ ต่อนายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษนั้นหมายความถึงอาวุธปืนที่ยังไม่ได้รับอนุญาตโดยชอบเท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว
ส่วนมาตรา 6 บัญญัติให้ผู้มีอาวุธปืนฯ ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจอนุญาตได้ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ ถ้าได้นำอาวุธปืนฯ มามอบให้นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษนั้นหมายความถึงอาวุธปืนที่ยังไม่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายและต้องเป็นปืนที่ไม่อาจอนุญาตได้ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ มิได้หมายความถึงอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วเช่นเดียวกัน ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าจำเลยมีอาวุธปืน 2 กระบอก เป็นปืนที่มีทะเบียนของบุคคลอื่นไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยจึงจะนำอาวุธปืนดังกล่าวไปขอรับอนุญาตหรือนำไปมอบนายทะเบียนท้องที่ไม่ได้ และไม่มีเหตุที่จะอ้างว่าจำเลยจะไม่ต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 5, 6 ดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510มาตรา 3 ให้จำคุกจำเลย 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ปรานีลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 3 เดือนส่วนที่ขอให้นับโทษจำเลยต่อกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 816/2510 ของศาลจังหวัดชุมพรนั้น ไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลได้พิพากษาแล้วหรือยังจึงนับโทษต่อให้ไม่ได้ ให้ยกคำขอนี้เสีย