คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4898/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ จำเลยทั้งสองประกาศและรับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ แล้วเรียกค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายเกินอัตราที่รัฐมนตรีกำหนด และไม่ออกใบรับตามแบบที่อธิบดีกำหนดให้แก่คนหางาน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 26 และมาตรา 27 วรรคสอง ประกอบมาตรา 47 และการกระทำแต่ละกรรมย่อมเป็นความผิดสำเร็จต่างกรรมกัน
สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 36 (1) เป็นบทบังคับให้ผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศต้องปฏิบัติ จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าไม่มีสัญญาหรือไม่ได้ทำสัญญาจึงไม่มีสัญญาและหลักฐานส่งให้อธิบดีกรมการจัดหางานพิจารณาอนุญาตก่อนไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 26, 27, 36 (1), 47, 78, 79 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2534 (ที่ถูก พ.ศ.2528) มาตรา 26 วรรคสอง, 27 วรรคสอง, 36 (1), 47, 78, 79 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเรียกค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายเกินอัตราที่รัฐมนตรีกำหนดและไม่ออกใบรับตามแบบที่อธิบดีกำหนด เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียว จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทแต่ละบทมีโทษเท่ากัน ลงโทษเรียกค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายเกินอัตราที่รัฐมนตรีกำหนดปรับจำเลยทั้งสองรวม 83,989,500 บาท ฐานไม่จัดส่งสัญญาจัดหางานต่ออธิบดีกรมการจัดหางาน ปรับจำเลยทั้งสองรวม 10,000 บาท รวมปรับ 83,999,500 บาทหากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 สำหรับจำเลยที่ 1 มิให้กักขังแทนค่าปรับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดสามกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเรียกค่าบริการและค่าใช้จ่ายเกินอัตราที่รัฐมนตรีกำหนด ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 41,994,750 บาท ฐานไม่ออกใบรับตามแบบที่อธิบดีกำหนด จำเลยที่ 1 ให้ปรับ 83,989,500 บาท จำเลยที่ 2 ให้จำคุก 1 ปี และฐานไม่จัดส่งสัญญาจัดหางานต่ออธิบดีกรมการจัดหางาน ให้ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 5,000 บาท รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 125,989,250 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี และปรับ 41,999,750 บาท ถ้าจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังได้ไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์นำพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายเข้าเบิกความ พยานโจทก์จำนวนหนึ่งเบิกความยืนยันว่าไปสมัครงานที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงแรมไทย – ลาว ริเวอร์ไซด์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ผู้เสียหายที่เบิกความเป็นพยานโจทก์ถึง 40 ปาก และพยานโจทก์ต่างเบิกความยืนยันว่าสมัครงานกับนางเสมียน นายธาดา และนางอนงค์ และบุคคลทั้งสามร่วมกันและช่วยกันดำเนินการให้พยานโจทก์ไปกู้ยืมเงินและจัดการให้เดินทางไปที่สนามบินกรุงเทพนำเดินทางไปประเทศจอร์แดน การกระทำของบุคคลทั้งสามต่างกระทำโดยเปิดเผยและเป็นที่รับรู้กันทั่วไปของคนหางาน แม้จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่า เนื่องจากบุคคลทั้งสามเป็นญาติจึงไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่บุคคลทั้งสาม แต่การที่จำเลยที่ 2 ได้รู้เห็นการกระทำของบุคคลทั้งสามแล้วแทนที่จะห้ามปรามเพื่อประกาศให้คนหางานที่มาสมัครงานทราบว่าบุคคลทั้งสามไม่ใช่ตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 บุคคลทั้งสามไม่ได้กระทำการให้จำเลยทั้งสอง การที่จำเลยที่ 2 ยังคงปล่อยให้มีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นย่อมเป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่แท้จริงของจำเลยที่ 2 ว่าประสงค์ให้บุคคลทั้งสามกระทำการดังกล่าวในสำนักงานของจำเลยที่ 1 และเป็นการกระทำให้แก่จำเลยทั้งสอง ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของนายชิน พยานจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานขับรถยนต์ให้แก่นายเทียรว่านายเทียรขอให้พยานพาคนหางานที่จะไปทำงานที่ประเทศจอร์แดนไปขอสินเชื่อ ไปตรวจสอบที่ดินที่นำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมเงิน และพาคนหางานไปตรวจโรค นายเทียรเป็นกรรมการจำเลยที่ 1 และเป็นสามีจำเลยที่ 2 ได้ใช้ให้นายชิน พยานจำเลยทั้งสองกระทำการเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นคนหางานที่มาสมัครงานกับจำเลยที่ 1 ทั้งเมื่อนางเสมียน นายธาดาและนางอนงค์ จะพาคนหางานเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครก็จะพาคนหางานมาร่วมรับประทานอาหารที่โรงแรมไทย – ลาว ริเวอร์ไซด์ ซึ่งเป็นสำนักงานของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 จะมาร่วมรับประทานอาหารและพูดคุยกับผู้เสียหาย และร่วมเดินทางไปส่งผู้เสียหายที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงนี้ไว้โดยละเอียดแล้ว ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งสองเป็นตัวการผู้กระทำการดังกล่าว มีปัญหาต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นนิติบุคคลและโดยจำเลยที่ 2 ได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศแล้ว แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 26, 27 วรรคสอง, 36 (1) ประกอบมาตรา 47 จะต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ส่งคนหางานเพื่อไปทำงานในประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเจาะจงเสียก่อนแล้วหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศแล้ว ก็จะเป็นที่เชื่อถือของคนหางานที่จะไปทำงานในต่างประเทศ เมื่อจำเลยทั้งสองประกาศและรับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศแล้วเรียกค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายเกินกว่าอัตราที่รัฐมนตรีกำหนด และไม่ออกใบรับตามแบบที่อธิบดีกำหนดให้แก่คนหางาน ก็เป็นความผิดตามมาตรา 26 และ 27 วรรคสอง ประกอบมาตรา 47 สำเร็จแล้ว ต้องรับโทษตามมาตรา 79 และการกระทำแต่ละกรรมย่อมเป็นความผิดสำเร็จต่างกรรมกันสามารถแยกการกระทำเป็นแต่ละกรรมความผิดสำเร็จ ไม่ใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท สำหรับความผิดตามมาตรา 36 (1) ซึ่งเป็นบทบังคับให้ผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศต้องปฏิบัติเพื่อมิให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้หางานจนเกิดความไม่เป็นธรรมอันมีผลกระทบต่อความสงบสุขของประชาชนและความสงบเรียบร้อยของประเทศ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามแล้วจะอ้างว่าไม่มีสัญญาหรือไม่ได้ทำสัญญาจึงไม่มีสัญญาและหลักฐานส่งให้อธิบดีกรมการจัดหางานพิจารณาอนุญาตก่อนจึงไม่เป็นความผิดนั้น เป็นการตีความกฎหมายเพื่อมิให้มีผลบังคับ ดังนั้นหากผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศไม่ปฏิบัติตามมาตรา 36 (1) ย่อมมีความผิดต้องรับโทษตามมาตรา 78 แล้ว ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียด ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา มีปัญหาในข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 411/2547 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียด และต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้วไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก สำหรับเงินค่าจ้างอัตรา 600 ดอลล่าร์สหรัฐ ที่นำมากำหนดเป็นฐานในการคำนวณอัตราค่าปรับ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้วเช่นกัน และโทษฐานไม่ออกใบรับตามแบบที่อธิบดีกำหนดนั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดแต่เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานเรียกค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายเกินอัตราที่รัฐมนตรีกำหนดและได้กำหนดโทษไว้ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่า เป็นความผิดต่างกรรมกัน ย่อมมีอำนาจกำหนดโทษและลงโทษให้ถูกต้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย และลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้นเหมาะสมชอบด้วยกฎหมาย ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาในทุกฐานความผิดแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share