คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18217/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเป็นผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ของกลาง แม้ผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นว่า ฉ. ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้ร้องแล้วกี่งวด เป็นเงินจำนวนเท่าใดและยังค้างชำระอยู่จำนวนเท่าใด ก็มิใช่ข้อที่แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 และการที่ผู้ร้องรับชำระค่าเช่าซื้อหลังจากที่รถยนต์ของกลางถูกยึดแล้ว ก็มิใช่เป็นการบ่งชี้ว่าผู้ให้เช่าซื้อกระทำโดยไม่สุจริตเสมอไป เมื่อโจทก์ไม่มีพยานมานำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าผู้ร้องไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด และผู้ร้องจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกี่ครั้งหรือเมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วผู้ร้องจะดำเนินคดีทางแพ่งเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อจาก ฉ. หรือไม่ ย่อมเป็นสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อที่ผู้ร้องจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ เมื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของกลางที่ให้เช่าซื้อคืนได้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางจึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องโดยตรง พฤติการณ์แห่งคดียังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เมื่อผู้ร้องไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องคืนรถยนต์ของกลางให้ผู้ร้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) (8) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 ลงโทษจำเลยที่ 4 และที่ 5 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ประกอบมาตรา 83 ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 และริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน จร 8787 กรุงเทพมหานคร ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การขอให้ศาลสั่งคืนของกลางที่ศาลสั่งริบแล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 นั้นเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา เมื่อผู้ร้องอ้างว่ารถยนต์ของกลางที่ศาลสั่งริบเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องนำสืบให้ได้ความตามที่กล่าวอ้าง คดีนี้ผู้ร้องมีนายทรงยศ ผู้รับมอบอำนาจช่วง เป็นพยานเบิกความว่า ในระหว่างที่ผู้เช่าซื้อยังชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้ร้องไม่ครบถ้วน รถยนต์ของกลางถูกพนักงานสอบสวนยึดไว้เป็นของกลางในคดีอาญา และต่อมาศาลมีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลาง ถือได้ว่าผู้เช่าซื้อได้กระทำผิดข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้ออันเป็นสาระสำคัญของสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 และข้อ 11.2 ซึ่งเป็นผลให้สัญญาสิ้นสุดทันทีและผู้ร้องมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ผู้ร้องจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังผู้เช่าซื้อ ผู้ร้องไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิด หรือมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีทรัพย์สินดังกล่าวไว้ใช้ในการกระทำความผิดตามที่ถูกฟ้อง ผู้ร้องไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจหรือให้ความยินยอมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดของจำเลย ดังนี้ ผู้ร้องได้นำสืบให้เห็นแล้วว่าผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ของกลางไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 แม้ผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นว่านายเฉลา ผู้เช่าซื้อ ชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้ร้องแล้วกี่งวด เป็นเงินจำนวนเท่าใดและยังค้างชำระอยู่จำนวนเท่าใด แต่นายทรงยศก็เบิกความว่า รถยนต์ของกลางถูกยึดในระหว่างที่ผู้เช่าซื้อยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน จึงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุผู้เช่าซื้อยังคงค้างชำระค่าเช่าซื้อแก่ผู้ร้อง และการที่ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อหรือไม่เพียงใดก็มิใช่ข้อที่แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ส่วนที่นายทรงยศไม่ได้เบิกความว่าเมื่อรถยนต์ของกลางถูกพนักงานสอบสวนยึดแล้ว ผู้ร้องยังคงรับชำระค่าเช่าซื้อจากนายเฉลาหรือไม่ก็มิใช่ข้อสำคัญเช่นกัน การที่โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่าหลังจากรถยนต์ของกลางถูกยึดแล้วผู้ร้องยังคงรับชำระค่าเช่าซื้อเรื่อยมา ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะถามค้านนายทรงยศหรือนำพยานเข้าสืบให้เห็นดังที่โจทก์ยื่นคำคัดค้านไว้ และการที่ผู้ให้เช่าซื้อรับชำระค่าเช่าซื้อหลังจากที่รถยนต์ของกลางถูกยึดแล้ว ก็มิใช่เป็นการบ่งชี้ว่าผู้ให้เช่าซื้อกระทำโดยไม่สุจริตเสมอไป เมื่อโจทก์ไม่มีพยานมานำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าผู้ร้องไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด นอกจากนี้การที่ผู้ร้องเคยบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกับนายเฉลาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2551 มาครั้งหนึ่งแล้ว และมาบอกเลิกสัญญากับนายเฉลาอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 27 สิงหาคม 2551 ก็มิใช่ข้อพิรุธเพราะเหตุที่บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเป็นเหตุเดียวกัน และผู้ร้องจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกี่ครั้งหรือเมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วผู้ร้องจะดำเนินคดีทางแพ่งเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อจากนายเฉลาหรือไม่ ย่อมเป็นสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อที่ผู้ร้องจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ เมื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของกลางที่ให้เช่าซื้อคืนได้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางจึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องโดยตรง พฤติการณ์แห่งคดียังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องขอคืนรถยนต์ของกลางเพื่อประโยชน์ของนายเฉลาผู้เช่าซื้อ อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอคืนรถยนต์ของกลาง เมื่อผู้ร้องไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องคืนรถยนต์ของกลางให้ผู้ร้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้คืนรถยนต์หมายเลขทะเบียน จร 8787 กรุงเทพมหานคร ของกลางแก่ผู้ร้อง

Share