คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 633/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การให้สัตยาบันคือการแสดงการรับรองยอมรับผิดในหนี้นั้นหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่ระบุไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 142 โจทก์มี หนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ที่ภริยาจำเลยกู้เงินโจทก์ จำเลยแจ้งว่าจำเลยยอมรับผิดชดใช้เฉพาะหนี้เงินกู้รายหนึ่ง ส่วนหนี้เงินกู้รายอื่นจำเลยไม่ทราบเรื่อง กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าหนี้เงินกู้รายอื่นที่ภริยาจำเลยก่อขึ้นนั้น จำเลยได้ให้สัตยาบันด้วย จำเลยต้องรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกของภริยา แต่ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 360,000 บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า เงินจำนวน 160,000 บาทที่นางอังคณา เทพาคำ กู้ยืมไปจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นหนี้ร่วมกันหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเงินจำนวน 160,000 บาทที่นางอังคณา เทพาคำ กู้ยืมไปจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 มีที่มาจากการกู้ 3 ครั้ง คือครั้งที่ 1 เป็นเงิน 70,000 บาท ครั้งที่ 2 เป็นเงิน 50,000 บาท ครั้งที่ 3 เป็นเงิน 40,000 บาท การกู้ครั้งที่ 1 โจทก์เบิกความว่าการกู้ครั้งนี้ไม่ทราบว่านางอังคณาเอาเงินไปทำอะไร การกู้ครั้งที่ 2 โจทก์เบิกความว่านางอังคณาได้บอกว่าจะนำไปซื้อรถยนต์ใช้เอง การกู้ครั้งที่ 3 โจทก์เบิกความว่านางอังคณาพูดว่าจะนำเงินจำนวนนี้ไปทำประโยชน์ให้แก่บุตรของตน แต่ทำประโยชน์อะไรไม่ปรากฏจะฟังว่ากู้เอาไปใช้จ่ายการศึกษาของบุตรก็รับฟังไม่ได้เพราะบุตรยังเล็กอยู่ นอกจากโจทก์แล้ว โจทก์คงมีนางบุญมี จำรูญจันทร์ เป็นพยานเบิกความว่านางอังคณาเคยเล่าให้ฟังว่านางอังคณาเคยไปเอาเงินจากโจทก์ไปออกดอกให้คนกู้เอากำไร ศาลฎีกาเห็นว่าตามคำพยานโจทก์ดังกล่าวรับฟังไม่ได้ว่านางอังคณา เทพาคำ กู้เงินโจทก์ทั้งสามครั้งเอาไปใช้จ่ายเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูรักษาพยาบาลครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรดังที่โจทก์อ้างในคำฟ้อง ส่วนที่โจทก์อ้างในคำฟ้องว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินบริคณห์และเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งจำเลยกับนางอังคณา เทพาคำ ทำด้วยกันนั้นเห็นว่าหนี้เงินกู้ดังกล่าวนางอังคณา เทพาคำ ก่อขึ้นเป็นการส่วนตัวโดยนางอังคณาเทพาคำ เป็นหญิงมีสามีมิได้รับอนุญาตของจำเลยผู้เป็นสามีอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 38 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น หนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นหนี้เกี่ยวข้องกับสินบริคณห์หรือเป็นหนี้ซึ่งเกิดขึ้นจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกันส่วนที่โจทก์อ้างในคำฟ้องว่าหนี้เงินกู้ดังกล่าวจำเลยได้ให้สัตยาบันแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการให้สัตยาบันก็คือการแสดงการรับรองยอมรับผิดในหนี้นั้นด้วยหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่ระบุไว้ในมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้จำนวนทั้งหมด จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยยอมรับผิดชดใช้เฉพาะหนี้เงินกู้จำนวน 200,000 บาทที่จำเลยให้ความยินยอมไว้เท่านั้น ส่วนหนี้เงินกู้รายอื่นจำเลยไม่ทราบเรื่อง กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าหนี้เงินกู้จำนวน 160,000 บาทที่นางอังคณา เทพาคำ ก่อขึ้นนั้น จำเลยได้ให้สัตยาบันดังโจทก์อ้างศาลฎีกาจึงเห็นว่าเงินจำนวน 160,000 บาท ที่นางอังคณา เทพาคำ กู้ยืมไปจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 ไม่ใช่เป็นหนี้ร่วมกันตามที่ระบุไว้ในมาตรา 1482 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวในเงินจำนวนดังกล่าว ฎีกาจำเลยฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวในหนี้เงินกู้ 160,000 บาทกับดอกเบี้ยตามเอกสารหมาย จ.4 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความสองศาลเป็นเงิน 2,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share