คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3988/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องคดีนี้มีใจความสำคัญว่า โจทก์ทั้งเจ็ดกับพวกในฐานะที่เป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้ประชุมและมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถอดถอน พ. กับพวกซึ่งเป็นกรรมการประจำมัสยิดออกจากตำแหน่งเนื่องจากกระทำการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ศาสนสมบัติ และเสื่อมเสียประโยชน์ของมัสยิด ทำให้เกิดการแตกแยกต่อมาจำเลยในฐานะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ประชุมมีมติและคำสั่งให้แก้ไขมติและคำสั่งของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดดังกล่าวเป็นว่าให้ภาคทัณฑ์ พ.กับพวกและให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งต่อไปดังเดิม เช่นนี้เห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องคดีในฐานะที่เป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรง มิได้ฟ้องในฐานะส่วนตัว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการมัสยิดเป็นอำนาจเฉพาะของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่จะกระทำได้ตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 มาตรา 8 โดยมีระเบียบการแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวแก่ศาสนกิจของมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ. 2492 ใช้บังคับซึ่งในหมวด 2 ของระเบียบดังกล่าวนี้บัญญัติในเรื่องการแต่งตั้งและถอดถอนให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดโดยเฉพาะโดยมิได้ระบุให้สิทธิกรรมการที่ถูกถอดถอนยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ ต่างกับหมวด 3 ในข้อ 21 เรื่องจริยาของกรรมการอิสลามประจำมัสยิดที่ว่า กรณีที่กรรมการอิสลามประจำมัสยิดถูกถอดถอนจากตำแหน่งเพราะละเมิดจริยาตามหมวด 3มีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเพื่อวินิจฉัย และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้เมื่อปรากฏว่าตามคำสั่งของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้วินิจฉัยให้ พ.ออกจากตำแหน่งอิหม่ามมัสยิดร.ด้วยสาเหตุตามหมวด 2 ของระเบียบดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการขาดคุณสมบัติตามหมวด 1เป็นส่วนใหญ่และส่วนสำคัญ โดยอาศัยสาเหตุแห่งการละเมิดจริยาตามหมวด3 เป็นข้ออ้างเพิ่มเติมเท่านั้นคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจึงไม่มีอำนาจที่จะแก้ไขมติและคำสั่งของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในส่วนที่เกี่ยวกับ พ.ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 กับบุคคลอื่นอีก 4 คน ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว 2 คน ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรี โดยมีโจทก์ที่ 1 เป็นประธานกรรมการจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 กับบุคคลอื่นอีก 10 คนเป็นคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการจำเลยที่ 30 เคยดำรงตำแหน่งอิหม่ามและประธานกรรมการอิสลามประจำมัสยิดรียาดิ๊สสุนัน เลขที่ 43 ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี แต่ได้ถูกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีถอดถอนออกจากตำแหน่งไปแล้ว โจทก์จำเลยต่างมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลามพ.ศ. 2488 พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 กฎกระทรวงและระเบียบที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อวันที่ 15 และ 23 มกราคม2526 โจทก์และกรรมการร่วมคณะทั้งหมด 9 คน ในฐานะคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรี ได้ประชุมเพื่อพิจารณาพฤติการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 30 อิหม่าม กับกรรมการอิสลามประจำมัสยิดรียาดิ๊สสุนันที่ได้ทำการรื้อถอนอาคารมัสยิดหลังเก่า และก่อสร้างอาคารมัสยิดหลังใหม่ อันเป็นศาสนสมบัติของมัสยิดโดยผิดหลักการทางศาสนาอิสลาม ซึ่งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีมีอำนาจตรวจควบคุมและสั่งการเกี่ยวกับการเงินและศาสนสมบัติของมัสยิดได้ให้ยับยั้งการก่อสร้างไว้แล้ว แต่ยังฝ่าฝืนก่อสร้างต่อไปทำให้เสียหายแก่ศาสนสมบัติกับทั้งยังได้ประพฤติและกระทำการอันขัดต่อพระธรรมวินัย ฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบการแต่งตั้ง ถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวแก่ศาสนกิจ (สุเหร่า) พ.ศ. 2492 อันเป็นเหตุที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีต้องนำเข้าที่ประชุมวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 30กับคณะได้กระทำผิดหลักการทางศาสนาอิสลามขัดต่อพระธรรมวินัยและฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าวข้างต้นจริง และปรากฏชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 30ได้ดำเนินกิจการของมัสยิดรียาดิ๊สสุนัน ก่อให้เกิดการเสียหายแก่ศาสนสมบัติ และเสื่อมเสียประโยชน์ของมัสยิดทำให้เกิดการแตกแยกจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 15มกราคม 2526 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 และตามระเบียบการแต่งตั้ง ถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ. 2492 โจทก์ที่ 1ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรี ได้มีคำสั่งที่กอ.นบ.03/2526 ให้ถอดถอนจำเลยที่ 30 ออกจากตำแหน่งและต่อมาได้มีคำสั่งให้ถอดถอนนายสมหมาย ปรีชาเดช กรรมการมัสยิดกับพวกออกจากตำแหน่ง ตามคำสั่งที่ กอ.นบ.004/2526 ต่อมาวันที่28 กรกฎาคม 2526 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ในฐานะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ประชุมพิจารณาวินิจฉัยคำร้องของจำเลยที่ 30 กับพวกที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีถอดถอนออกจากตำแหน่งแล้วได้ยื่นอุทธรณ์ต่อประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ที่ประชุมมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ แต่เสียงข้างมากเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 30 กับพวกยังไม่ถึงขั้นจะลงโทษสถานหนัก จึงมีมติให้แก้คำสั่งของประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีจากให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งเป็นให้ภาคทัณฑ์โดยอ้างอำนาจตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์อิสลาม พ.ศ. 2488 และระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ. 2492และได้ออกคำสั่งที่ 03/2526 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2526 สั่งแก้คำสั่งของประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีดังกล่าวข้างต้นให้ภาคทัณฑ์จำเลยที่ 30 กับพวกอีก 6 คน และสั่งให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งต่อไปตามเดิม โจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29ไม่มีอำนาจรับพิจารณาวินิจฉัยลงมติและออกคำสั่งแก้คำสั่งของประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้วได้ กับไม่มีอำนาจใด ๆ ที่จะสั่งให้จำเลยที่ 30 กับพวกกลับเข้าดำรงตำแหน่งตามเดิมได้ เพราะการแต่งตั้งถอดถอนอิหม่ามและกรรมการมัสยิดเป็นอำนาจหน้าที่ของกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเท่านั้น การสั่งถอดถอนจำเลยที่ 30 กับพวกออกจากตำแหน่งก็เป็นการใช้อำนาจถอดถอนตามมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลามพ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะว่าด้วยมัสยิดอิสลาม ไม่ได้ใช้อำนาจลงโทษให้ออกจากตำแหน่ง ตามข้อ 21 ของหมวด 3 แห่งระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า)พ.ศ. 2492 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยรับพิจารณาวินิจฉัยสั่งได้โจทก์เห็นอีกว่าระเบียบดังกล่าวให้อำนาจวินิจฉัยเพียงว่า การสั่งลงโทษเป็นธรรมหรือไม่เท่านั้น หาได้มีอำนาจสั่งให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ได้ไม่ และถ้าระเบียบข้อนี้ให้อำนาจในการสั่งให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งตามเดิมได้ ระเบียบข้อนี้ก็ขัดแย้งกับมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 จึงใช้บังคับไม่ได้ มติและคำสั่งของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นมติและคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากมีมติและคำสั่งของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยดังกล่าวข้างต้น เป็นเหตุให้จำเลยที่ 30 เข้าดำเนินกิจการของมัสยิดรียาดิ๊สสุนันและดำเนินการก่อสร้างอาคารมัสยิดต่อไปโดยผิดหลักการในศาสนาอิสลาม ซึ่งจะใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมตามลัทธิศาสนาอิสลามไม่ได้ ทำให้เสียหายแก่ศาสนสมบัติ เสื่อมเสียประโยชน์ของมัสยิด กับทั้งก่อให้เกิดการแตกแยก เกิดความไม่สงบในหมู่อิสลามิกชน การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยครั้งที่ 3/2526 (น่าจะเป็นครั้งที่ 2/2526) และคำสั่งของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่ 03/2526 ลงวันที่1 สิงหาคม 2526 ให้บังคับตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรี และคำสั่งที่ กอ.นบ.03/2526 ลงวันที่ 15มกราคม 2526 กับคำสั่งที่ กอ.นบ. 004/2526 และห้ามไม่ให้จำเลยที่ 30 กระทำการในตำแหน่งอิหม่ามมัสยิดรียาดิ๊สสุนัน และห้ามไม่ให้เกี่ยวข้องและจัดกิจการของมัสยิด ให้ระงับการก่อสร้างอาคารมัสยิดรียาดิ๊สสุนันเลขที่ 43 ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรีจังหวัดนนทบุรี ด้วย จำเลยที่ 21 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 18ที่ 22 ยื่นคำให้การเกินกำหนดศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำให้การโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3, ที่ 10 ถึงที่ 14 และที่ 16 จำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 9 ที่ 15 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 20 และที่ 23 ถึงที่ 30 ยื่นคำให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะส่วนตัวประกอบกับไม่มีมติของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีให้ฟ้องคดีนี้ได้ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7มิได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีนี้แต่อย่างใด การที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรี มีคำสั่งที่ กอ.นบ.03/2526ให้ถอดถอนจำเลยที่ 30 ออกจากตำแหน่งอิหม่ามประจำมัสยิดรียาดิ๊สสุนัน และมีคำสั่งที่ กอ.นบ.004/2526 ให้ถอดถอนนายสมหมาย ปรีชาเดช นายประสิทธิ์ กระจ่างพัฒน์ นายปรีชา เลาะฮีมนายสนั่น เหลือรักษ์ นายสุธรรม ขันทอง นายสมชาย มิตรอารีย์นางละมูล มูซอ นางสาววิไลลักษณ์ เครือนาคพันธ์ ออกจากกรรมการอิสลามประจำมัสยิดรียาดิ๊สสุนันนั้น กรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีได้วินิจฉัยโดยอาศัยมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2488และระเบียบการแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด(สุเหร่า) และวิธีการดำเนินการอันเกี่ยวแก่ศาสนกิจของมัสยิด(สุเหร่า) พ.ศ. 2492 การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ในฐานะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีมติให้แก้ไขคำสั่ง กอ.นบ.03/2526 และกอ.นบ.004/2526 จากการลงโทษถอดถอนออกจากตำแหน่งให้เป็นภาคทัณฑ์นั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ได้วินิจฉัยและมีคำสั่งตามมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลามพ.ศ. 2488 และระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวแก่การศาสนกิจของมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ. 2492 เช่นเดียวกัน ซึ่งจำเลยที่ 1ถึงที่ 29 มีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย และมีผลให้จำเลยที่ 30กับพวกกลับสู่สภาพการเป็นอิหม่ามและกรรมการประจำมัสยิดรียาดิ๊สสุนันตามเดิม ซึ่งตามระเบียบและกฎหมายดังกล่าวให้ถือว่าคำสั่งของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นที่สุดมติที่ประชุมของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคำสั่งชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนมติที่ประชุมของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยครั้งที่ 2/2526และคำสั่งของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่ 03/2526ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2526 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 30 และให้บังคับตามมติของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีตามคำสั่งที่ กอ.นบ.03/2526 ลงวันที่ 15 มกราคม 2526 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยที่ 1, 2, 4, 5, 7, 8, 9, 15, 17, 18, 19, 20,21, 22, 24, 25, 26, 27, 28, 29 และ 30 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำคู่ความและคำแถลงรับของคู่ความว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรี โดยมีโจทก์ที่ 1 เป็นประธานกรรมการจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 เป็นกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 30 ดำรงตำแหน่งอิหม่ามและเป็นประธานกรรมการอิสลามประจำมัสยิดรียาดิ๊สสุนันเลขที่ 43 ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรี ได้ประชุมพิจารณาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2526 แล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 30 ขาดคุณสมบัติของผู้ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหน้าที่ของอิหม่ามและหน้าที่ของกรรมการอิสลามประจำมัสยิดทำให้ความเสียหายและเสียประโยชน์แก่มัสยิด รวมทั้งยังเกิดความแตกแยกขึ้นในปวงสัปบุรุษและกรรมการอิสลามมัสยิดที่บริหารร่วมกันอันเป็นการขัดต่อนโยบายของรัฐบาลในการทำให้เกิดการแบ่งแยกในหมู่ประชาชน จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถอดถอนจำเลยที่ 30พ้นจากตำแหน่งอิหม่ามมัสยิดรียาดิ๊สสุนันตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ปรากฏตามคำสั่ง กอ.นบ.03/2526ลงวันที่ 15 มกราคม 2526 ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2526 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ในฐานะคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ประชุมพิจารณาคำร้องของจำเลยที่ 30 ซึ่งได้อุทธรณ์มติและคำสั่งของโจทก์ ที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมากว่า การกระทำของจำเลยที่ 30ถือว่าเป็นการกระทำความผิดยังไม่ถึงขึ้นจะลงโทษสถานหนักจึงให้แก้คำสั่ง กอ.นบ.03/2526 ของโจทก์ โดยให้ภาคทัณฑ์จำเลยที่ 30และให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งต่อไปตามเดิมปรากฏตามคำสั่งที่ 03/2526ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2526
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่ามติของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ซึ่งเป็นคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่แก้ไขมติของโจทก์ทั้งเจ็ดกับพวกในเรื่องการถอดถอนจำเลยที่ 30 กับพวก มิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นการส่วนตัว โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องคดีนี้มีใจความสำคัญว่า โจทก์ทั้งเจ็ดกับพวกซึ่งเป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีได้ประชุมเพื่อพิจารณาพฤติการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 30 กับพวกในฐานะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดรียาดิ๊สสุนันในฐานะที่โจทก์ทั้งเจ็ดกับพวกเป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรี ที่ประชุมเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 30กับพวกก่อให้เกิดความเสียหายแก่ศาสนสมบัติ และเสื่อมเสียประโยชน์ของมัสยิด ทำให้เกิดการแตกแยก จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถอดถอนจำเลยที่ 30 กับพวกออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติ มัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 และตามระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวแก่ศาสนกิจของมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ. 2492 โจทก์ที่ 1 จึงมีคำสั่งให้ถอดถอนจำเลยที่ 30 กับพวกออกจากตำแหน่ง ต่อมาจำเลยที่ 1ถึงที่ 29 ในฐานะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ประชุมกันแล้วมีมติและคำสั่งให้แก้ไขมติและคำสั่งของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีจากให้ถอดถอนบุคคลเหล่านี้ออกจากตำแหน่งเป็นให้ภาคทัณฑ์และให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งต่อไปดังเดิม ซึ่งจำเลยที่ 1ถึงที่ 29 ไม่มีอำนาจกระทำเช่นนั้นได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์เช่นนี้ ตามฟ้องของโจทก์เห็นได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิในฐานะที่โจทก์เป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีไม่ใช่ถูกโต้แย้งสิทธิในฐานะส่วนตัว ทั้งเห็นได้ชัดว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะที่โจทก์เป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีซึ่งถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรงมิได้ฟ้องในฐานะส่วนตัวโดยอ้างว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิหรือเสียหายเป็นการส่วนตัวแต่ประการใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า มติและคำสั่งของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่แก้ไขมติและคำสั่งของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 30 และให้จำเลยที่ 30กลับเข้าดำรงตำแหน่งต่อไปตามเดิมเป็นมติและคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 มาตรา 8บัญญัติว่า “ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนกรรมการมัสยิด” จึงเห็นได้ว่าอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการมัสยิดนั้นเป็นอำนาจเฉพาะของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่จะกระทำได้ พระราชบัญญัตินี้หาได้ให้อำนาจคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมัสยิดไม่ สำหรับการแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิดนั้นมีระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวแก่ศาสนกิจของมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ. 2492ใช้บังคับ โดยหมวด 2 ของระเบียบดังกล่าวบัญญัติในเรื่องการแต่งตั้งและถอดถอนโดยเฉพาะ และการถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิดตามหมวด 2 นี้ ระเบียบดังกล่าวระบุให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด โดยมิได้ระบุให้สิทธิกรรมการที่ถูกถอดถอนยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ต่างกับหมวด 3 ที่บัญญัติในเรื่องจริยาของกรรมการอิสลามประจำมัสยิด โดยข้อ 21ซึ่งอยู่ในหมวด 3 นี้เองกล่าวในวรรคแรกว่า เมื่อกรรมการอิสลามประจำมัสยิดละเมิดจริยาดังกล่าวมาในหมวดนี้ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีอำนาจสอบสวนพิจารณาสั่งการลงโทษให้ออกจากตำแหน่งหรือภาคทัณฑ์ตามสมควรแก่กรณี และวรรคสองกล่าวว่า กรรมการอิสลามประจำที่มัสยิดที่ถูกลงโทษ เห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมก็มีสิทธิยื่นคำร้องภายในกำหนดระยะเวลา 30 วันนับแต่ได้รับทราบคำสั่งลงโทษต่อคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเพื่อวินิจฉัย คำสั่งของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นที่สุด จึงเห็นได้ว่าหากกรรมการอิสลามประจำมัสยิดถูกถอดถอนจากตำแหน่งตามหมวด 2ของระเบียบนี้ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยไม่มีอำนาจแก้ไขคำสั่งถอดถอนของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้แต่กรณีที่กรรมการอิสลามประจำมัสยิดถูกถอดถอนจากตำแหน่งเพราะละเมิดจริยาตามหมวด 3 แล้วยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจึงจะมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งดังกล่าวของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้ สำหรับคำสั่งที่ กอ.นบ.03/2526 ลงวันที่ 15 มกราคม 2526นั้น ระบุว่าคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีได้ประชุมพิจารณาแล้วมีมติว่า จำเลยที่ 30 มีความผิดฐานขาดคุณสมบัติผู้ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหน้าที่ของอิหม่ามและหน้าที่ของกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ทำให้บังเกิดความเสียหายและเสียประโยชน์แก่มัสยิดรวมทั้งบังเกิดความแตกแยกขึ้นในปวงสัปบุรุษและกรรมการอิสลามมัสยิดที่บริหารร่วมกัน อันเป็นการขัดต่อนโยบายของรัฐบาลในการทำให้เกิดการแบ่งแยกในหมู่ประชาชน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2488 มาตรา 8 และระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวแก่ศาสนกิจของมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ. 2492 หมวด 1 ข้อ 5(ค,ฌ) ข้อ 6 (ก,ข และ ฉ) ข้อ 7 (ก,ข,ค และ ง) หมวด 2 ข้อ13 (ค,ฉ) หมวด 3 ข้อ 17, 18, 20 และข้อ 21 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถอดถอนนายพิชิต ศรีเรืองทอง จำเลยที่ 30 พ้นจากตำแหน่งอิหม่ามมัสยิดรียาดิ๊สสุนัน ตามคำสั่งดังกล่าวคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีวินิจฉัยให้จำเลยที่ 30 ออกจากตำแหน่งโดยอาศัยสาเหตุตามหมวด 2 ของระเบียบดังกล่าวซึ่งรวมถึงการขาดคุณสมบัติตามหมวด 1 ด้วยเป็นส่วนใหญ่และส่วนสำคัญ โดยอาศัยสาเหตุแห่งการละเมิดจริยาตามหมวด 3 เป็นข้ออ้างเพิ่มเติมเท่านั้นดังนั้นมติและคำสั่งของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่แก้ไขมติและคำสั่งของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 30 และให้จำเลยที่ 30 กลับเข้าดำรงตำแหน่งต่อไปตามเดิม จึงเป็นมติและคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบดังกล่าวแล้ว”
พิพากษายืน

Share