คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4663/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การเพียงว่าการที่ผู้ส่งเรียกร้องให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งออกใบตราส่งให้กับยึดถือใบตราส่งนั้นไว้เป็นหลักฐานโดยไม่คัดค้านและนำใบตราส่งนั้นมาแสดงต่อธนาคารเพื่อรับเงินค่าสินค้า เป็นการแสดงโดยชัดแจ้งว่า ผู้ส่งยอมรับรู้ข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ระบุไว้หลังใบตราส่งฉะนั้นการที่จำเลยนำสืบว่า ผู้ส่งยังได้ลงนามในข้อตกลงต่างหากยอมรับไว้ล่วงหน้าถึงบรรดาข้อจำกัดความรับผิดต่าง ๆที่จำเลยระบุไว้ในใบตราส่งในขณะรับขน จึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยในปัญหานี้ก็ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
การที่ผู้ส่งลงนามและประทับตรากับแจ้งภูมิลำเนาไว้หลังใบตราส่งนั้นเป็นการสลักหลังใบตราส่งเมื่อได้รับเงินค่าสินค้าจากธนาคารแล้วเพื่อส่งให้แก่ผู้สั่งซื้อสินค้าและให้ผู้สั่งซื้อสินค้าชำระเงินผ่านธนาคารก่อนที่จะไปรับสินค้าและจัดส่งใบตราส่งคืนจำเลยผู้รับขนเพื่อปล่อยสินค้าต่อไป จึงมิใช่กรณีที่ผู้ส่งตกลงลงนามยอมรับเงื่อนไขในการขนส่งสินค้าไว้หลังใบตราส่งนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625
คำว่า ‘ของมีค่าอย่างอื่น ๆ ‘ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 620 หมายถึงสิ่งของมีค่าทำนองเดียวกับของตามที่ระบุไว้ในตอนต้นของมาตรานี้สินค้าทังสเตนคาร์ไบด์ไม่เป็นสิ่งของมีค่าพิเศษในลักษณะดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นของมีค่าซึ่งหากจำเลยผู้ขนส่งมิได้รับบอกราคาของไว้ในขณะส่งมอบแก่ตนแล้ว จำเลยย่อมไม่ต้องรับผิด (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 357/2512)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าทังสเตนคาร์ไบด์จำนวน ๑,๗๕๐ ชิ้นที่บริษัทคอสโมอินดัสตรีส์ จำกัด สั่งซื้อเข้าจากบริษัทแซงโกะเทรดดิ้ง คอมปะนีลิมิเต็ด ผู้ส่ง โดยเรือของจำเลยชื่อพิชัยสมุทร จากเมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ถึงกรุงเทพมหานคร และออกใบตราส่งให้ไว้เป็นหลักฐาน แต่ปรากฏว่าหีบห่อสินค้าแตกทังสเตนคาร์ไบด์ดังกล่าวสูญหายไปรวม ๑,๕๐๐ ชิ้นก่อนที่บริษัทคอสโมอินดัสตรีส์ จำกัด ผู้รับตราส่งจะรับสินค้าจากจำเลยและเมื่อเรียกให้จำเลยชำระค่าเสียหายของสินค้าแล้วก็ไม่ชำระ ผู้รับตราส่งซึ่งได้เอาประกันภัยสินค้าดังกล่าวไว้กับโจทก์ จึงเรียกเอาจากโจทก์และโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๑๘,๗๐๘ แก่ผู้รับตราส่งไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๒๔ และรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอากับจำเลยตามจำนวนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๒๔ ถึงวันฟ้องขอคิดเพียง ๘,๑๖๑.๑๗ บาท ขอให้จำเลยใช้เงิน ๑๒๖,๘๖๙.๑๗ บาท และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน ๑๑๘,๗๐๘ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระราคาให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า การขนส่งสินค้าครั้งนี้ จำเลยคิดค่าระวางเรือในอัตราธรรมดาเพราะผู้ส่งไม่ได้แจ้งราคาให้จำเลยทราบ ผู้ส่งจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและโจทก์ไม่มีสิทธิรับช่วงสิทธิของผู้ส่งมาฟ้องจำเลยได้ หากจำเลยต้องรับผิดตามที่ระบุในใบตราส่งก็รับผิดไม่เกิน ๑๐๐ ปอนด์สเตอร์ลิงต่อ๑ หีบห่อหรือเท่ากับ ๓,๙๐๐ บาท การที่ผู้ส่งเป็นผู้เรียกและยอมรับใบตราส่งจากจำเลยผู้ขนส่งโดยไม่คัดค้านและนำใบตราส่งรับเงินจากธนาคาร ถือว่าผู้ส่งทราบเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบตราส่งแล้วทั้งคู่สัญญารับขนสินค้าพิพาทนี้ก็เป็นบุคคลต่างสัญชาติกัน และไม่อาจหยั่งทราบเจตนาของคู่สัญญาได้ว่าจะให้ใช้กฎหมายประเทศใดบังคับ พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายบัญญัติให้ใช้กฎหมายญี่ปุ่นซึ่งกำหนดจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ให้ต้องรับผิดคิดเป็นเงินไทย ๙,๘๙๓ บาทต่อ ๑ หีบห่อโจทก์จะชำระเงิน ๑๑๘,๗๐๘ บาท และรับช่วงสิทธิมาเรียกกับจำเลยได้หรือไม่ จำเลยไม่รับรอง หากโจทก์ชำระไปจริงก็เป็นการชำระเกินความเสียหายและไม่แจ้งให้จำเลยทราบก่อน และหากจำเลยจะรับผิดก็ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท กับจะคิดดอกเบี้ยไม่ได้ด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว จึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลยผู้ขนส่งตามราคาสินค้าที่สูญหายเป็นเงิน ๑๑๘,๗๐๘ บาท พิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์เป็นจำนวน ๑๑๘,๗๐๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๒๔ จนกว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จแต่ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยก่อนฟ้องเกินกว่า ๘,๑๖๑.๑๗ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์เป็นเงิน ๓,๙๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๒๔ จนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จสิ้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการที่จำเลยให้การแต่เพียงว่าการที่บริษัทแซงโกะเทรดดิ้งคอมปะนีลิมิเต็ดผู้ส่งได้เรียกร้องให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งออกใบตราส่งให้แก่ตนกับได้ยึดถือใบตราส่งนั้นไว้เป็นหลักฐานโดยไม่มีการคัดค้านและนำใบตราส่งนั้นมาแสดงต่อธนาคารเพื่อรับเงินค่าสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตย่อมเป็นการแสดงโดยชัดแจ้งว่าผู้ส่งสินค้ายอมรับรู้เงื่อนไขข้อกำหนดจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ระบุไว้หลังใบตราส่งนั้นแล้วซึ่งตีความได้ว่าเป็นการยอมรับหรือตกลงด้วยในขณะที่มีการรับขนเท่านั้น ฉะนั้น การที่จำเลยนำสืบด้วยว่าผู้อำนวยการของบริษัทแซงโกะเทรดดิ้งคอมปะนีลิมิเต็ดยังได้ลงนามไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับการบรรทุกขนส่งสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นไปยังประเทศไทยเอกสารหมาย ล.๖ ยอมรับไว้ล่วงหน้าถึงบรรดาเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดต่าง ๆ ที่จำเลยจะระบุไว้ในใบตราส่งของจำเลยในขณะรับขนจึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นแม้ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยในปัญหานี้ก็ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา๒๔๙ แต่เมื่อพิเคราะห์เอกสารหมาย ล.๑ ซึ่งเป็นใบตราส่งสินค้าปรากฏว่าด้านหลังใบตราส่งมีตราบริษัทแซงโกะเทรดดิ้งคอมปะนีลิมิเต็ดประทับแสดงภูมิลำเนากับลายมือชื่อผู้อำนวยการของบริษัทดังกล่าวไว้เท่านั้นหามีข้อความอย่างหนึ่งอย่างใดพอให้เข้าใจว่าบริษัทแซงโก๊ะเทรดดิ้งคอมปะนีลิมิเต็ดยอมผูกพันจำกัดความรับผิดของสินค้าที่สูญหายไว้ไม่ที่มีชื่อบริษัทแซงโกะเทรดดิ้งคอมปะนีลิมิเต็ดประทับไว้เช่นนั้นจึงเป็นการสลักหลังใบตราส่งเมื่อได้รับเงินค่าราคาสินค้าจากธนาคารแล้วเพื่อส่งให้แก่บริษัทคอสโมอินดัสตรีส์ จำกัดผู้สั่งซื้อสินค้าและให้ผู้สั่งซื้อสินค้าชำระเงินผ่านธนาคารก่อนที่จะไปรับสินค้าและจัดส่งใบตราส่งคืนจำเลยผู้รับขนเพื่อปล่อยสินค้าต่อไปดังที่โจทก์นำสืบ ฉะนั้นการที่มีตราบริษัทแซงโกะเทรดดิ้งคอมปะนีลิมิเต็ดหลังใบตราส่งจึงถือไม่ได้ว่ามีผลต้องผูกพันรับรู้หรือจำกัดความรับผิดให้แก่ผู้รับขนดังที่จำเลยอ้างนอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดระบุไว้ในข้อ ๒ ของใบตราส่งหมาย ล.๑ ว่าให้ใช้กฎหมายไทยซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นควบคุมและตีความใบตราส่งตลอดจนสิทธิและความรับผิดทั้งปวงตามใบตราส่งและได้มีกฎหมายไทยบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ ๘ เรื่องรับขนตั้งแต่มาตรา ๖๐๘ ถึงมาตรา ๖๓๓ ที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะนำมาใช้บังคับแก่คู่กรณีได้จึงฟังไม่ได้ว่าบริษัทแซงโกะเทรดดิ้งคอมปะนีลิมิเต็ดผู้ส่งสินค้าได้แสดงความตกลงลงนามยอมรับเงื่อนไขในการขนส่งสินค้าไว้หลังใบตราส่งเอกสารหมาย ล.๑ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๒๕ เมื่อสินค้าเกิดการสูญหายขึ้นขณะอยู่ในความรับผิดของจำเลยซึ่งเป็นผู้รับขนจำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายตามราคาสินค้าที่สูญหายให้โจทก์ผู้รับช่วงสิทธิตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่งที่จำเลยยกข้ออ้างในคำแก้ฎีกาว่าบริษัทแซงโกะเทรดดิ้งคอมปะนีลิมิเต็ดผู้ส่งมิได้แสดงมูลค่าแท้จริงของสินค้ารายพิพาทขณะส่งมอบแก่จำเลยเพื่อจำเลยจะได้คิดอัตราค่าระวางบรรทุกในอัตราพิเศษแบบแจ้งมูลค่าของสินค้าและผู้ส่งคงเสียค่าระวางในอัตราธรรมดาจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๖๒๐ นั้นเห็นว่าคำว่า ‘ของมีค่าอย่างอื่น ๆ ‘ ตามที่มาตรา ๖๒๐ ดังกล่าวบัญญัติไว้หมายถึงสิ่งของที่มีค่าทำนองเดียวกับของตามที่ระบุไว้ในตอนต้นคือเงินทองตราธนบัตรธนาคารบัตรตั๋วเงินพันธบัตรใบหุ้นใบหุ้นกู้ประทวนสินค้าและอัญมณีเมื่อสินค้าทังสเตนคาร์ไบด์รายนี้ไม่ปรากฏว่าเป็นสิ่งของที่มีค่าพิเศษในลักษณะดังกล่าวอย่างไรก็ถือไม่ได้ว่าเป็นของมีค่าซึ่งหากจำเลยผู้ขนส่งมิได้รับบอกราคาของไว้ในขณะส่งมอบแก่ตนแล้วจำเลยย่อมไม่ต้องรับผิดทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๕๗/๒๕๑๒ ระหว่างนายเทียมเซ้ง แซ่ลี้โจทก์บริษัทพิชิต จำกัดจำเลยข้ออ้างของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่าให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share