คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3289/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่ง แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาที่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาครโจทก์ขอแก้ฟ้องโดยแก้ ภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสอง และยื่นคำร้องขออนุญาตฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งอนุญาต ดังนี้ ป.วิ.พ.มาตรา 4 เป็นบทบัญญัติที่ใช้แก่ศาลทั่วไป แต่ศาลแพ่งยังมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นนอกเขตอำนาจของศาลแพ่งได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14(4) เมื่อศาลแพ่งอนุญาตให้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองได้ตามคำร้องขอของโจทก์ ก็แสดงว่าศาลแพ่งใช้ดุลพินิจ ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 14(4) แล้ว คำร้องขออนุญาตฟ้องคดีต่อศาลแพ่งของโจทก์ แม้ข้อความในคำร้องของโจทก์บางตอนเข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4(2) ศาลแพ่งก็มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษา โดยอาศัยอำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14(4).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองว่าจ้างโจทก์นำสินค้าของจำเลยเข้ามาในประเทศและส่งออกนอกประเทศซึ่งโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 64,666 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีหลายประการ รวมทั้งให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่ง เพราะจำเลยทั้งสองมิได้มีภูมิลำเนาในเขตอำนาจของศาลแพ่ง ทั้งมูลคดีมิได้เกิดในเขตอำนาจของศาลแพ่งด้วย โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขออนุญาตฟ้องภายหลังยื่นคำฟ้องแล้วเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ดจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 62,268.33บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่าที่ศาลแพ่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณานั้นชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่ง โดยระบุในคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่ง ศาลแพ่งสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้แล้ว ต่อมาส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองในเขตอำนาจของศาลแพ่งไม่ได้ เพราะปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร โจทก์จึงขอแก้ฟ้อง โดยขอแก้ภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสองใหม่ ศาลแพ่งอนุญาตและในวันเดียวกันนั้น โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตฟ้องจำเลยทั้งสองที่ศาลแพ่ง ศาลแพ่งอนุญาตตามคำร้องของโจทก์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) บัญญัติถึงการยื่นคำฟ้องไว้ว่า ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลนั้น แต่ถ้าโจทก์ประสงค์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นให้โจทก์ยื่นคำร้องแสดงให้เห็นว่า การพิจารณาคดีในศาลนั้น ๆจะเป็นการสะดวกศาลจะใช้ดุลพินิจอนุญาตให้โจทก์ยื่นคำฟ้องตามที่ขอนั้นก็ได้ จะเห็นได้ว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4 นี้ เป็นบทบัญญัติที่ใช้แก่ศาลทั่วไป แต่สำหรับศาลแพ่งแล้วยังมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นนอกเขตอำนาจศาลแพ่งและจำเลยมีภูมิลำเนานอกเขตศาลแพ่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 14 (4) อีกด้วย สำหรับคดีนี้ เมื่อศาลแพ่งอนุญาตให้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อสาลแพ่งได้ตามคำร้องขอของโจทก์แล้ว แม้คำร้องขอของโจทก์จะยื่นเข้ามาภายหลังจากยื่นคำฟ้องแล้วก็ตาม ย่อมแสดงว่าศาลแพ่งใช้ดุลพินิจยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14(4) แล้ว ไม่ว่ามุลคดีจะเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใด ศาลแพ่งก็ใช้ดุลพินิจอนุญาตได้ กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า มูลกรณีเกิดขึ้นในเขตอำนาจฟ้องศาลแพ่งหรือไม่ดังที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นเป็นข้อฎีกา อนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าตามคำร้องขออนุญาตฟ้องของโจทก์เห็นได้ว่า โจทก์มีความมุ่งหมายขออนุญาตฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4(2) นั้น เห็นว่าตามคำร้องของโจทก์มิได้ระบุว่าโจทก์ขออนุญาตฟ้องตามมาตรา 4(2) แต่อย่างใด แม้ข้อความในคำร้องของโจทก์บางตอนจะเข้าหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 (2) บ้างก็ตามศาลแพ่งก็มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาได้โดยอาศัยอำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14(4) ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share