คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4659/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งศาลแรงงานกลางที่กำหนดประเด็นข้อพิพาท เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้จึงไม่สามารถอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ประกอบพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 31 จำเลยเป็นนิติบุคคล น. ได้รับอำนาจจากกรรมการของจำเลย น. จึงเป็นผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล มีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ด้วยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2น. มีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายทำงานในตำแหน่งช่างเคาะได้รับค่าจ้างเดือนละ 14,000 บาทเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2536 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด และจำเลยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค้างค่าจ้างอัตราสุดท้าย180 วัน เป็นเงิน 84,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 14,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 70,000 บาท และค่าจ้างค้างชำระ 6 วัน เป็นเงิน2,799 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ยังไม่ได้ถูกเลิกจ้าง เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2536 จำเลยได้ตัดค่าจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ทำให้ไฟเลี้ยวรถเบนซ์เสียหาย โจทก์กล่าวคำพยาบาทว่าจะทำให้บริษัทจำเลยเสียหาย ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2536โจทก์ทำกระจกบังลมรถเบนซ์แตกเสียหายอีก 3 ครั้ง ระหว่างที่โจทก์ทำงานให้จำเลย โจทก์ค้าขายสินค้าอื่น มีการเรียกเก็บเงินจากพนักงานอื่นโดยสัญญาว่าจะนำมาคืนและจะจ่ายเงินปันผลให้ แต่โจทก์ก็มิได้คืนให้ทำให้มีเหตุทะเลาะวิวาทในบริษัทจำเลยเป็นเนืองนิจ โจทก์ทำให้พนักงานในแผนกช่างเคาะลาออก เหลือโจทก์แต่ผู้เดียว เมื่อมีลูกค้ามาติดต่อ โจทก์ก็ไม่รับงานและบอกปัดว่าจำเลยจะเลิกแผนกดังกล่าว โจทก์รับค่าจ้างเดือนมิถุนายน 2536 แล้วไม่ยอมมาทำงานอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ในวันที่ 1กรกฎาคม 2536 พันตำรวจเอกนำชัย ภิรมจิตรผ่อง ซึ่งเป็นสามีของนางผ่องศรี ภิรมจิตรผ่อง กรรมการคนหนึ่งของจำเลยได้เรียกโจทก์มาพบที่ห้องทำงานและบอกโจทก์ว่า ไม่ต้องมาทำงานอีกเพราะยุบแผนก การที่พันตำรวจเอกนำชัย พูดกับโจทก์เกี่ยวกับการทำงานได้ และแจ้งให้ปรับปรุงงาน แสดงว่าพันตำรวจเอกนำชัย ต้องได้รับอำนาจจากกรรมการของจำเลยให้ตักเตือนควบคุมพนักงานได้ เชื่อว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์จริง แต่โจทก์ทำงานไม่มีประสิทธิภาพพอเพียงเพราะจำเลยได้รับความเสียหาย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุสมควรมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์พิพากษาให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 14,000 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน84,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ยังไม่ถูกเลิกจ้างแต่ศาลชั้นต้นมิได้ตั้งประเด็นในเรื่องอำนาจฟ้องไว้ กลับตั้งประเด็นว่า โจทก์จงใจทำให้จำเลยเสียหาย และละทิ้งงานไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ซึ่งไม่ตรงกับที่จำเลยต่อสู้คดี เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้ว คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งเช่นนี้ได้ต่อเมื่อได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ แต่จำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่สามารถอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งในเรื่องการกำหนดประเด็นข้อพิพาทได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อไปว่า จำเลยเป็นนิติบุคคล ผู้ที่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์อันเป็นผลผูกพันนิติบุคคลจะต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลดังที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรปราการเอกสารหมาย ล.1 เท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางฟังว่าพันตำรวจเอกนำชัย ภิรมจิตรผ่อง มีอำนาจเลิกจ้างจึงเป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 2 เห็นว่าข้อนี้ศาลแรงงานกลางได้ฟังข้อเท็จจริงว่าพันตำรวจเอกนำชัยพูดกับโจทก์เกี่ยวกับการทำงานได้ และแจ้งให้ปรับปรุงงาน แสดงว่าพันตำรวจเอกนำชัยต้องได้รับอำนาจจากกรรมการของจำเลย ดังนั้น พันตำรวจเอกนำชัยจึงเป็นผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล มีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ด้วย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share