แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ไม่ได้ออกทุนรอนหรือยุยงส่งเสริมให้ จ. เป็นความกับ ม. กับพวก ข้อกำหนดตามสัญญาจะซึ้อขาย ข้อ 4 ที่ว่าจะโอนที่ดินเมื่อผู้ขายชนะคดีความไม่มีภาระผูกพันต่อคดีนั้น มีลักษณะเป็นเงื่อนไขในสัญญาประการหนึ่งและเป็นข้อความที่คัดลอกมาจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยกับ จ. ไม่ถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกันไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยใช้บังคับกันได้ไม่เป็นโมฆะ เงินมัดจำที่โจทก์วางไว้แก่จำเลยจึงไม่ใช่เงินที่ชำระโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411
จำเลยได้ฟ้อง จ. ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ แล้วต่อมาคู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยตกลงให้ทายาทของ จ. นำที่ดินแปลงที่ จ. ทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยไปขายให้แก่ผู้อื่นได้โดยทายาทของ จ. ยินยอมชำระเงินให้จำเลย 1,000,000 บาท จึงเป็นผลให้จำเลยไม่มีที่ดินโอนให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายอีกต่อไป ถือว่าการโอนที่ดินตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยต้องรับผิดชอบ จำเลยจึงต้องคืนมัดจำที่รับไปแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (3) จึงฟังได้ว่าหนี้เงินมัดจำที่รับไว้จากโจทก์จำนวน 2,450,000 บาท เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 กับโจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่าหากจำเลยชนะความไม่มีภาระผูกพันต่อคดีเฉพาะที่ดินที่ขายตามสัญญาและเมื่อเสร็จสิ้นคดีแล้วจำเลยจะแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทราบล่วงหน้าภายใน 60 วัน หากโจทก์ผิดสัญญายินยอมให้จำเลยริบเงินมัดจำ ถ้าจำเลยผิดสัญญายอมให้โจทก์ฟ้องร้องและยอมใช้ค่าเสียหาย 3 เท่า มีรายละเอียดคือวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยตกลงขายที่ดิน 2 ไร่ ราคา 1,400,000 บาท โจทก์ชำระราคาบางส่วน 600,000 บาท วันที่ 21 มิถุนายน 2533 จำเลยตกลงขายที่ดิน 1 ไร่ ราคา 700,000 บาท โจทก์ชำระราคาบางส่วน 650,000 บาท วันที่ 22 สิงหาคม 2533 จำเลยตกลงขายที่ดิน 1 ไร่ ราคา 700,000 บาท โจทก์ชำระราคาบางส่วน 600,000 บาท วันที่ 23 มกราคม 2534 จำเลยตกลงขายที่ดิน 1 ไร่ ราคา 700,000 บาท โจทก์ชำระราคาบางส่วน 600,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,450,000 บาท ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ต่อมาคดีระหว่างจำเลยกับ นางจำลอง สุวรรณเจริญ เจ้าของที่ดินแปลงที่จำเลยทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์ดังกล่าวศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 245/2547 มีข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความว่า จำเลยยอมให้นางจำลองหรือทายาทขายที่ดินพิพาทซึ่งมีที่ดินที่จำเลยทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์ทั้งสี่ครั้งรวมอยู่ด้วย เท่ากับจำเลยไม่มีวัตถุแห่งหนี้ที่จะโอนให้แก่โจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญาซื้อขายที่ดิน โจทก์ทวงถามหลายครั้งแต่จำเลยหลบหนีไม่ยอมพบโจทก์บอกเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินที่โจทก์ชำระไปทั้งหมด จำเลยไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถานหรือหลบไปหรือวิธีอื่น เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ จำเลยได้แถลงต่อศาลในคดีใดๆ หรือได้แจ้งให้เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งของตนทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย
จำเลยให้การว่า จำเลยทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับโจทก์ตามฟ้องขณะทำสัญญาที่ดินที่จะซื้อขายกันยังไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยและยังไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคลใดการที่โจทก์กำหนดให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์เมื่อจำเลยชนะคดี เป็นการทำสัญญาหวังผลจากการดำเนินคดีของจำเลย มีลักษณะเป็นการยุยงส่งเสริมให้จำเลยเข้าเป็นความกับบุคคลอื่นและหวังผลของสัญญาจากการแพ้หรือชนะคดีของบุคคลอื่นมีลักษณะเป็นการพนันขันต่อ หนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินทั้งสี่ฉบับ เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนตกเป็นโฆฆะโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยตามสัญญาดังกล่าว โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเงินมัดจำคืนในฐานะลาภมิควรได้ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้นคดีของโจทก์ขาดอายุความ โจทก์เคยนำสัญญาจะซื้อขายที่ดินตามฟ้องไปฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างนัดสืบพยานจำเลย โจทก์ได้ถอนฟ้อง โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หนี้ของโจทก์ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยเฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า แต่เดิมจำเลยทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 ตำบลบ้านระกาศ (ระกาศ) อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ กับนางจำลอง สุวรรณเจริญ เนื้อที่ 5 ไร่ แล้วจำเลยนำที่ดินดังกล่าวมาทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์รวม 4 ฉบับ โจทก์วางเงินมัดจำไว้แก่จำเลยเป็นเงิน 2,450,000 บาท เงินที่เหลือจะชำระในวันโอน ณ สำนักงานทะเบียนที่ดินถ้าจำเลยชนะความไม่มีภาระผูกพันต่อคดีเฉพาะที่ดินที่ขาย โดยเมื่อเสร็จสิ้นคดีแล้วจำเลยจะแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทราบล่วงหน้าภายใน 60 วัน หนังสือสัญญาดังกล่าวทำเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2533 วันที่ 21 มิถุนายน 2533 วันที่ 22 สิงหาคม 2533 และวันที่ 23 มกราคม 2534 ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้ง 4 ฉบับ ตกเป็นโมฆะทำให้หนี้ตามฟ้องไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ทราบอยู่แล้วว่าขณะทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยนั้น นางจำลอง สุวรรณเจริญ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 กำลังจะเป็นความกับนายเหมือน ลำไย กับพวก โดยนายเหมือนฟ้องนางจำลองเรื่องแบ่งมรดกต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2534 ตามคดีหมายเลขดำที่ 539/2534 โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 ไม่มีส่วนได้เสียในมูลคดีถือว่าโจทก์ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการที่นางจำลองเป็นความกับบุคคลอื่นเป็นการแสวงหาประโยชน์จากที่ผู้อื่นเป็นความกันขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆะ เงินที่โจทก์ชำระเป็นการชำระโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายจึงฟ้องเรียกคืนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 เมื่อหนี้ตามฟ้องเป็นโฆฆะจึงไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายไม่ได้ เห็นว่า ผู้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของที่ดินอยู่ในขณะทำสัญญาก็ได้ หากผู้ขายสามารถจัดการให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์โดยชำระราคาตามที่ตกลงกันไว้ สัญญาจะซื้อขายนั้นก็ใช้ได้แล้ว คดีนี้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ออกทุนรอนหรือยุยงส่งเสริมให้นางจำลองเป็นความกับนายเหมือนกับพวก ข้อกำหนดตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 ข้อ 4 ที่ว่าจะโอนที่ดินเมื่อผู้ขายชนะคดีความไม่มีภาระผูกพันต่อคดีนั้น มีลักษณะเป็นเงื่อนไขในสัญญาประการหนึ่งและเป็นข้อความที่คัดลอกมาจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยกับนางจำลอง ไม่ถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกันแต่อย่างใด ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยใช้บังคับกันได้ไม่เป็นโฆฆะ เงินมัดจำที่โจทก์วางไว้แก่จำเลยไม่ใช่เงินที่ชำระโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 ดังที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างนั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ข้อเท็จจริงยังได้ความด้วยว่า ในภายหลังจำเลยได้ฟ้องนางจำลองต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ แล้วต่อมาคู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามเอกสารหมาย จ.13 โดยจำเลยตกลงให้ทายาทของนางจำลองนำที่ดินแปลงที่นางจำลองทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยไปขายให้แก่ผู้อื่นได้โดยทายาทของนางจำลองยินยอมชำระเงินให้จำเลย 1,000,000 บาท จึงเป็นผลให้จำเลยไม่มีที่ดินโอนให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายอีกต่อไป ถือว่าการโอนที่ดินตามฟ้องตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยต้องรับผิดชอบ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนมัดจำที่รับไปแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (3) ดังนี้ จึงฟังได้ว่าหนี้เงินมัดจำที่รับไว้จากโจทก์จำนวน 2,450,000 บาท เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท แม้โจทก์จะเคยยื่นฟ้องจำเลยเรียกเงินมัดจำคืนต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการแล้ว ต่อมาโจทก์ได้ถอนฟ้องคดีนั้นเสีย ก็ได้ความจากคำร้องขอถอนฟ้องเอกสารหมาย จ.28 ว่า โจทก์ถอนฟ้องเนื่องจากได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ต่อศาลล้มละลายกลาง หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่ระงับ โจทก์จึงนำหนี้จำนวนดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้ สำหรับปัญหาที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นต้วนั้นจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ขึ้นมา จึงฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และกรณีไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.