แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้มีประกันที่ไม่ได้ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 เพราะตามคำขอรับชำระหนี้ระบุว่าเป็นการขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 (3) เมื่อเจ้าหนี้มีประกันใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจทำการตรวจคำขอรับชำระหนี้ของเจ้ากนี้ไม่ว่าจะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ และมีอำนาจหมายเรียกเจ้าหนี้มาทำการสอบสวนเกี่ยวกับหนี้สินที่ขอรับชำระหนี้ว่าเจ้าหนี้มีประกันและมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่จริงหรือไม่ตามมาตรา 105 เจ้าหนี้จึงมีหน้าที่นำสืบถึงข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างในคำขอรับชำระหนี้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสาม เด็ดขาดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2542
เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้เงินกู้ยืมตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และศาลจังหวัดมีนบุรี รวม 3 คดี จำนวนเงิน 37,851,132.95 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากมูลหนี้เงินกู้ยืมเป็นเงิน 37,851,132.95 บาท เจ้าหนี้จึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนให้ได้ความตามที่กล่าวอ้างเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่ามูลหนี้ที่ยื่นขอรับชำระหนี้ไว้มีอยู่จริง และลูกหนี้ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวตามมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ประกอบด้วยมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่เจ้าหนี้ก็หาได้นำพยานหลักฐานมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวน ทั้งมิได้นำสืบให้ได้ความว่าหนี้ดังกล่าวไม่เป็นหนี้ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ จึงไม่อาจพิจารณาให้ตามที่ขอ เห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107 (1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แก้อุทธรณ์เอง จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่า ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษายกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิจารณาสำนวนคำขอรับชำระหนี้แล้ว ปรากฏว่าเจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้มีประกันที่ไม่ได้ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 เพราะตามคำขอรับชำระระบุว่าเป็นการขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) อันเป็นการขอรับชำระหนี้ด้วยเงื่อนไขในการขอรับชำระหนี้ว่าขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์อันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ เมื่อเจ้าหนี้มีประกันใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจทำการตรวจขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไม่ว่าจะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ และมีอำนาจหมายเรียกเจ่าหนี้มาทำการสอบสวนเกี่ยวกับหนี้สินที่ขอรับชำระหนี้ว่าเจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้มีประกันและมีสิทธิขอรับชำระหนี้ สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่จริงหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 เจ้าหนี้จึงมีหน้าที่นำสืบถึงข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างในคำขอรับชำระหนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความยุติว่าในชั้นสอบสวนคำขอรับชำระหนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้โอกาสเจ้าหนี้ในการนำสืบพยานโดยมีการส่งหมายนัดเจ้าหนี้มาให้การสอบสวนรวม 6 ครั้ง เจ้าหนี้ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่ไปตามกำหนดนัดโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจงดสอบสวนและทำความเห็นเสนอศาลตามพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏในสำนวนซึ่งเจ้าหนี้มีเพียงสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจำนวน 3 ฉบับ ผู้ที่รับมอบอำนาจเจ้าหนี้รับรองสำเนาด้วยตนเองแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้เท่านั้น ทั้งไม่ปรากฏหลักฐานอื่นใดที่แสดงให้เห็นถึงหลักประกันและที่มาของมูลหนี้ตามคำพิพากษาที่ขอรับชำระหนี้ พยานหลักฐานดังกล่าวจึงยังไม่เพียงพอที่จะนำมารับฟังได้ว่าเจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้มีประกันและมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่จริง ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107 (1) นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ