คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4649/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยมิได้ยักยอกเงินของโจทก์ที่จังหวัดเชียงราย จำเลยรับเงินและเช็คจากลูกค้าของโจทก์ที่จังหวัดสมุทรปราการแล้วไม่นำส่งให้โจทก์ที่จังหวัดเชียงราย แต่กลับนำเงินและเช็คเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ธนาคารซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แม้อาจจะเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ แต่ความผิดดังกล่าวก็มิได้เกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย อันจะทำให้ศาลจังหวัดเชียงรายมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ การที่จำเลยมีเจตนาทุจริต โดยมีการวางแผนยักยอกเงินของโจทก์ที่จังหวัดเชียงราย หลังจาก ส. ถึงแก่ความตายแล้ว ก็ยังถือไม่ได้ว่าความผิดได้เกิดขึ้นแล้วอันจะทำให้ศาลจังหวัดเชียงรายไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแล้ว กรณีจึงไม่อาจโอนคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ไปชำระที่ศาลแขวงสมุทรปราการได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด สำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ มีนายสุรพงษ์ เลิศชัยพร และนายประดิษฐ์ รุ่งชัยพร เป็นกรรมการโดยคณะกรรมการคนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์ได้สร้างอาคารพาณิชย์และที่พักอาศัยห้องชุดที่จังหวัดสมุทรปราการ จำหน่ายให้แก่ประชาชนตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบัน และโจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของโจทก์กับจำเลยที่ 2 น้องชายของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำบัญชีจัดเก็บเอกสาร การเงินและนำเงินรายได้จากการขายห้องชุดส่งมอบแก่โจทก์ หรือเข้าบัญชีโจทก์ เมื่อระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2538 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2544 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเบียดบังเอาเงินจากการขายห้องชุดจำนวน 25,283,793 บาท ของโจทก์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสองไปโดยทุจริต เหตุเกิดที่ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย และตำบลบางจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เกี่ยวเนื่องกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 352
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นไม่ใช่สถานที่ความผิดเกิดขึ้น ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดเชียงราย) มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์หรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของนายธีรศักดิ์ ลิขิตเกรียงไกร ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และนายเกรียงไกร ศรีเพ็ชรวรรณดี ผู้บริหารโครงการของโจทก์ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด สำนักงานแห่งใหญ่ ตั้งอยู่เลขที่ 40/20 หมู่ที่ 6 ถนนสุขสวัสดิ์ ตำบลบางจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีนายสุรพงษ์ เลิศชัยพร สามีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์และนายประดิษฐ์ รุ่งชัยพร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อประทับตราสำคัญของโจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 2 เป็นน้องชายของจำเลยที่ 1 โจทก์มีวัตถุประสงค์สร้างอาคารพาณิชย์และที่พักอาศัยห้องชุดจำหน่ายโจทก์สร้างอาคารพาณิชย์และที่พักอาศัยที่จังหวัดสมุทรปราการ จำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2539 นายสุรพงษ์ถึงแก่ความตาย นายประดิษฐ์ได้นัดประชุมผู้ถือหุ้นของโจทก์ที่จังหวัดเชียงรายอันเป็นภูมิลำเนาของนายประดิษฐ์ ที่ประชุมตกลงมอบหมายให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ทำบัญชีจัดเก็บเอกสาร การเงินและนำเงินที่ได้จากการขายห้องชุดส่งมอบแก่โจทก์โดยนำเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่จังหวัดเชียงราย ภายหลังจำเลยทั้งสองรับมอบเงินสดและเช็คค่าห้องชุดที่ลูกค้าของโจทก์นำมาชำระเป็นเงินประมาณ 25,000,000 บาท แล้วนำเข้าบัญชีของจำเลยทั้งสองที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาอุรุพงษ์ โดยมิได้นำส่งให้โจทก์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย เห็นว่า หลังจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของโจทก์ได้มอบหมายให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ทำบัญชี เก็บเอกสารการเงิน และนำเงินรายได้จากการขายห้องชุดส่งแก่โจทก์โดยนำเข้าบัญชีของโจทก์ที่จังหวัดเชียงรายแล้ว จำเลยทั้งสองดำเนินการตามที่ประชุมผู้ถือหุ้นโจทก์มอบหมาย ซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกเงินของโจทก์ไปเป็นจำนวนเงินประมาณ 25,000,000 บาท ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกเงินของโจทก์ที่จังหวัดเชียงราย จำเลยทั้งสองรับเงินและเช็คจากลูกค้าของโจทก์ที่จังหวัดสมุทรปราการแล้วไม่นำส่งให้โจทก์ที่จังหวัดเชียงราย แต่กลับนำเงินและเช็คเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยทั้งสองที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาอุรุพงษ์ กรุงเทพมหานคร แม้อาจจะเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ แต่ความผิดดังกล่าวมิได้เกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย อันจะทำให้ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดเชียงราย) มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริต โดยมีการวางแผนยักยอกเงินของโจทก์ที่จังหวัดเชียงรายตั้งแต่เมื่อปลายเดือนเมษายน 2539 หลังจากนายสุรพงษ์ถึงแก่ความตายแล้วนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองตามข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์แม้จะเป็นความจริงก็ยังถือไม่ได้ว่าความผิดฐานยักยอกทรัพย์ได้เกิดขึ้นแล้วอันจะทำให้ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดเชียงราย) มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ ที่โจทก์ฎีกาขอให้โอนคดีของโจทก์ไปชำระที่ศาลแขวงหรือศาลจังหวัดสมุทรปราการ โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองได้รับมอบเงินและเช็คที่จังหวัดสมุทรปราการนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดเชียงราย) ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแล้ว กรณีก็ไม่อาจโอนคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ตามที่โจทก์อ้างได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share