แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ให้การว่าโจทก์ทำงานที่รับจ้างแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2539 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเรียกเงินค่าจ้างเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2541 เกิน 2 ปี จึงขาดอายุความตามกฎหมาย เป็นคำให้การที่ยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความไว้อย่างชัดเจนแล้ว ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาการจ้างโดยแบ่งค่าจ้างเป็นรายงวดหรือรายเดือนและโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตั้งแต่เมื่อใด คดีเริ่มนับอายุความและขาดอายุความในเวลาใดและมาจากสาเหตุใด เป็นรายละเอียดที่โจทก์และจำเลยที่ 2 จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความไว้โดยชอบแล้ว
จำเลยที่ 2 ต้องชำระค่าจ้างแก่โจทก์เป็นรายเดือน กล่าวคือ เมื่อโจทก์ทำงานให้จำเลยที่ 2 ครบเสร็จสิ้นในเดือนใด จำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทันทีในวันสิ้นงวดเดือนนั้น หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระอายุความต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 และหากอายุความสะดุดหยุดลงสำหรับค่าจ้างในเดือนใดก็จะมีผลต่อค่าจ้างของเดือนนั้นเท่านั้น ดังนั้นโจทก์ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจเป็นที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างรับจ้างดูแลกิจการของจำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิเรียกเอาสินจ้างที่พึงได้รับได้ตั้งแต่วันถัดจากวันสิ้นงวดเดือนเป็นต้นไปในแต่ละงวดเดือนที่จำเลยที่ 2 ผิดนัด ซึ่งมาตรา 193/34 (7) กำหนดอายุความเรียกร้องไว้ 2 ปี
จำเลยที่ 2 ค้างชำระค่าจ้างให้โจทก์ 2 งวดเดือนหลังสุดซึ่งโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2539 และวันที่ 21 เมษายน 2539 ปรากฏว่า ส. กรรมการโครงการได้มีหนังสือแจ้งตอบการทวงถามให้ชำระหนี้ไปยังโจทก์โดย ส. ยอมรับว่าจำเลยที่ 2 ติดค้างค่าจ้างทำงานตามที่โจทก์ทวงถามมาจริงแต่ขอชำระให้บางส่วนซึ่งเป็นค่าจ้างสำหรับ 2 งวดเดือนแรก ส่วนที่เหลือสำหรับงวด 2 เดือนสุดท้ายนั้น จำเลยที่ 2 จะชำระให้ ต่อมาเมื่อได้มีการเริ่มกิจกรรมใหม่ของโครงการตามที่ได้มีการเจรจากันไว้แล้ว ดังนั้นหนังสือดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ มีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้รับหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไปตามมาตรา 193/15 วรรคสอง เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2541 จึงเกินกำหนดเวลา 2 ปี ค่าจ้างที่ยังค้างชำระโจทก์อยู่ในแต่ละงวดเดือนของ 2 งวดเดือนหลังก็ยังขาดอายุความอยู่ดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันก่อสร้างอาคารสูง 46 ชั้น ชื่อโครงการไทม์สเตชั่น เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทางการค้า จำเลยทั้งสองได้ว่าจ้างโจทก์คัดเลือกผู้รับจ้างทำการก่อสร้างเฉพาะงานก่อสร้างผนังคอนกรีตเสริมเหล็กป้องกันดินพังชั้นใต้ดินของอาคารสำนักงานโครงการดังกล่าวในราคาค่าจ้าง 1,055,398 บาท โจทก์ได้ทำงานตามที่ได้รับจ้างโดยคัดเลือกบริษัทซีฟโก้ จำกัด เป็นผู้ก่อสร้างให้จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้ชำระค่าจ้างแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ว่าจ้างโจทก์ควบคุมและบริหารงานก่อสร้างผนังคอนกรีตเสริมเหล็กป้องกันดินพังชั้นใต้ดิน โดยชำระค่าจ้างเป็นรายเดือน เดือนละ 527,699 บาท โจทก์ได้ตกลงรับจ้างและทำการควบคุมและบริหารงานก่อสร้างผนังคอนกรีตเสริมเหล็กป้องกันดินพังชั้นใต้ดินตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2538 ถึงวันที่ 20 เมษายน 2539 งานจึงแล้วเสร็จ คิดเป็นเงินค่าจ้าง 2,110,796 บาท โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าจ้างรวม 4 ฉบับ จำเลยทั้งสองได้รับแล้วมีหนังสือรับสภาพหนี้ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2539 ว่าจะชำระค่าจ้างแก่โจทก์ภายในวันที่ 15 เมษายน 2540 และชำระค่าจ้างแก่โจทก์เพียง 2 เดือน เป็นเงิน 1,055,398 บาท นอกจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังได้ออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาตลาดน้อย ชำระหนี้แก่โจทก์รวม 2ฉบับ คือเช็คลงวันที่ 15 และ 25 พฤศจิกายน 2539 ตามลำดับ และนำเช็คมามอบแก่โจทก์เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2539 ตามลำดับ ถือว่าเป็นการชำระหนี้บางส่วน ยังคงค้างชำระค่าจ้าง 1,055,398 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,205,792.13 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,055,398 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ได้ทำงานแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้แก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2539 แต่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกร้องเงินค่าจ้างเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งมีระยะเวลาเกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 1,055,398 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่20 พฤศจิกายน 2541) ให้ไม่เกิน 150,394.13 บาท กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้องค่าฤชาธรรมเนียม สำหรับจำเลยที่ 1 (ที่ถูก คือ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1) ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์เป็นที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง จำเลยทั้งสองได้ว่าจ้างให้โจทก์ควบคุมงานก่อสร้างกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กป้องกันดินพังชั้นต้นใต้ดินของอาคารไทม์สเตชั่น มีกำหนดเวลา 4 เดือน ค่าจ้างเดือนละ 527,699 บาท รวมเป็นเงิน 2,110,796 บาท โจทก์เริ่มควบคุมงานก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2538 ถึงวันที่ 20 เมษายน 2539 จนงานแล้วเสร็จโจทก์ได้ส่งใบแสดงความก้าวหน้าของงานแต่ละเดือนและหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ชำระค่าจ้างเดือนที่ 1 และที่ 2 ค้างชำระค่าจ้างเดือนที่ 3 และที่ 4 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 ได้ให้การต่อสู้เรื่องอายุความไว้โดยชอบแล้วหรือไม่ จำเลยที่ 2 ให้การว่าโจทก์ทำงานที่รับจ้างแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2539 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเรียกร้องเงินค่าจ้างเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งมีระยะเวลากำหนดเกินกว่า 2 ปี สิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวจึงขาดอายุความตามกฎหมาย เห็นว่า คำให้การของจำเลยที่ 2 ได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความไว้อย่างชัดเจนแล้ว ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาการจ้างโดยแบ่งค่าจ้างเป็นรายงวดหรือรายเดือนและโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตั้งแต่เมื่อใด คดีเริ่มนับอายุความและขาดอายุความในเวลาใดและมาจากสาเหตุใดนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์และจำเลยที่ 2 จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความไว้โดยชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า ค่าจ้างที่ยังค้างชำระโจทก์อยู่อีก 2 เดือนนั้นขาดอายุความแล้วหรือไม่เพียงใด ในประเด็นนี้ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบโต้แย้งกันฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองตกลงว่าจ้างโจทก์ให้ควบคุมและบริหารงานก่อสร้างอาคารไทม์สเตชั่นเฉพาะงานโครงสร้างผนังคอนกรีตเสริมเหล็กป้องกันดินพังชั้นใต้ดินที่มีบริษัทซีฟโก้ จำกัด เป็นผู้ก่อสร้าง ตกลงค่าจ้างเป็นรายเดือน เดือนละ 527,699 บาท ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2538 ถึงวันที่ 20 เมษายน 2539 รวม 4 เดือน โจทก์ควบคุมการทำงานของบริษัทซีฟโก้ จำกัด ให้แก่จำเลยทั้งสองเสร็จและส่งมอบงานให้จำเลยทั้งสองเรียบร้อยแล้วโดยทำรายงานความก้าวหน้าประจำเดือนแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบทุกงวดเดือนที่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเสร็จตามเอกสารหมาย จ.13 หลังจากนั้นโจทก์ได้ทำหนังสือเรียกเก็บเงินค่าจ้างจากจำเลยที่ 2 เดือน เดือนละ 527,699 บาท รวม 4 เดือน คิดเป็นเงินค่าจ้าง 2,100,796 บาท ตามเอกสารหมาย จ.14 จำเลยที่ 2 ได้ชำระเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์แล้วสำหรับงวด 2 เดือนแรก เป็นเงิน 1,055.398 บาท โดยโจทก์ได้ออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีตามเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 แสดงว่าได้รับเงินค่าจ้างดังกล่าวรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้สองครั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.16 และ 17 ส่วนที่เหลือยังไม่ได้ชำระอีก 2 งวดเดือนคือค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2539 และตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2539 ถึงวันที่ 20 เมษายน 2539 นายสจ๊วต แมคโดนัลด์ กรรมการโครงการอาคารไทม์สเตชั่นของจำเลยทั้งสองได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2539 แจ้งมายังโจทก์ว่าส่วนที่เหลือจะชำระก็ต่อเมื่อได้มีการเริ่มกิจกรรมใหม่ของโครงการตามเอกสารหมาย จ.15 แต่จำเลยทั้งสองก็ยังมิได้ชำระจนบัดนี้ ก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้รับแล้ว ยังคงเพิกเฉยเห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 กำหนดค่าจ้างทำงานกันเป็นรายเดือน เมื่อทำงานที่รับจ้างแต่ละงวดเดือนเสร็จโจทก์ก็จะรายงานความก้าวหน้าประจำเดือนให้จำเลยที่ 2 ทราบทุกเดือนเป็นรายเดือนไปดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.13 และเมื่อโจทก์สั่งใบแจ้งหนี้เพื่อเรียกเก็บเงินค่าทำงานตามที่รับจ้างไปยังจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.14 ก็ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามค่าจ้างเป็นรายเดือนเช่นกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ต้องชำระค่าจ้างแก่โจทก์เป็นรายเดือน กล่าวคือเมื่อโจทก์ทำงานให้จำเลยที่ 2 ครบเสร็จสิ้นในเดือนใด จำเลยที่ 2 ก็จะต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทันทีในวันสิ้นงวดเดือนนั้นเลย หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระอายุความตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 และหากอายุความเรียกร้องค่าจ้างเป็นรายเดือนสะดุดหยุดลง สำหรับค่าจ้างในเดือนใดก็จะมีผลต่อค่าจ้างของเดือนนั้นเท่านั้น ดังนั้นโจทก์ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจเป็นที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างรับจ้างดูแลกิจการของจำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิเรียกเอาสินจ้างที่พึงได้รับได้ตั้งแต่วันถัดจากวันสิ้นงวดเดือนเป็นต้นไปในแต่ละงวดเดือนที่จำเลยที่ 2 ผิดนัด ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) กำหนดอายุความเรียกร้องไว้ 2 ปี แต่เมื่อค่าจ้างที่จำเลยที่ 2 ยังค้างชำระโจทก์ที่ 2 งวดเดือนหลังสุดซึ่งโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2539 และวันที่ 21 เมษายน 2539 นั้น ปรากฏว่านายสจ๊วตกรรมการโครงการอาคารไทม์สเตชั่นได้มีหนังสือแจ้งตอบการทวงถามให้ชำระหนี้ไปยังโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.15 ซึ่งปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ได้รับในวันเดียวกันนั้นโดยนายสจ๊วตยอมรับว่าจำเลยที่ 2 ติดค้างค่าจ้างทำงานตามที่โจทก์ทวงถามมาจริงแต่ขอชำระให้บางส่วนซึ่งเป็นค่าจ้างสำหรับ 2 งวดเดือนแรก ส่วนที่เหลือสำหรับงวด 2 เดือน สุดท้ายนั้น จำเลยที่ 2 จะชำระให้ต่อเมื่อได้มีการเริ่มกิจกรรมใหม่ของโครงการตามที่ได้มีการเจรจากันไว้แล้ว ดังนั้นหนังสือตามเอกสารหมาย จ.15 ดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ มีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2539 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 วรรคสอง อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2541 จึงเกินกำหนดเวลา 2 ปี ค่าจ้างที่ยังค้างชำระโจทก์อยู่ในแต่ละงวดเดือนของ 2 งวดเดือนหลังก็ยังขาดอายุความอยู่ดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มาด้วยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ