คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4230/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจในการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย คดีที่จำเลยนำยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ และมีผู้อื่นร้องขัดทรัพย์ก็ถือว่าเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินจึงอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในคดีร้องขัดทรัพย์ต่อไปหรือไม่ยอมเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในอันที่จะใช้ดุลพินิจเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่กองทรัพย์สินของจำเลย
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ของจำเลย เป็นกรณีตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 กรณีหาใช่เป็นการเริ่มต้นฟ้องคดีใหม่ หรือถอนฟ้องคดีที่จำเลยได้ยื่นฟ้องไว้แล้วตามมาตรา 145 (4) จึงไม่ต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้หรือกรรมการเจ้าหนี้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกามีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนจำเลยโดยเปิดเผยแล้ว ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยได้แจ้งทรัพย์สินของจำเลยรวมทั้งการที่จำเลยเป็นเจ้าหนี้คำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 665/2540 ของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่าง นายอาทิตย์ สุขศิวานันท์ โจทก์ นายวิเชียร ตันติวิริยะคุณ จำเลย ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 75754 และ 75755 จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ของนายวิเชียรเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ระหว่างการบังคับคดี นายอำไพ ตันติวิริยะคุณ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ในคดีดังกล่าวโดยอ้างว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นของผู้ร้องตามคำพิพากษาตามยอมในคดีหมายเลขแดงที่ 785/2535 ของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชพิจารณาคดีร้องขัดทรัพย์ดังกล่าวแล้ว พิพากษายกคำร้องขอ ผู้ร้องอุทธรณ์ จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวได้แก้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า จำเลย(นายวิเชียร) ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้ผู้ร้อง (นางอำไพ) และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจึงเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 การบังคับคดีของโจทก์ (นายอาทิตย์) ย่อมไม่ประทบสิทธิของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์พิพาทได้ พิพากษากลับให้เพิกถอนการยึด โดยศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2544 เจ้าพนักงานพิทักษ์เห็นพ้องกับเหตุผลของศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งไม่ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
วันที่ 5 ตุลาคม 2544 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น (ศาลแพ่ง) ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 โดยศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาไปถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2544 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2544 ว่านางอำไพปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมครบถ้วนแล้ว จนกระทั่งศาลมีคำสั่งให้โอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อนางอำไพในที่ดินดังกล่าวที่จำเลยจะยึดที่ดังกล่าว ซึ่งกรณีเช่นนี้ได้มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 และการบังคับคดีย่อมไม่กระทบถึงสิทธิดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยื่นฎีกาจึงชอบแล้ว ให้ยกคำร้องของจำเลย ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า ในการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะใช้ดุลพินิจในการดำเนินคดีว่าจะฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในคดีของจำเลยหรือไม่ และเนื่องจากพ้นกำหนดระยะเวลาที่ยื่นฎีกาแล้วอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้ศาลอุทธรณ์คำพิพากษาให้จำเลยหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นฎีกาจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยนั้น เห็นว่า ในปัญหาว่าการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่ยื่นฎีกาในคดีร้องขัดทรัพย์ซึ่งจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องบุคคลภายนอกเป็นการกระทำที่ชอบหรือไม่ เป็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 มาตรา 3 ได้บัญญัติให้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายไปยังศาลฎีกาโดยตรง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรพิจารณาคดีนี้ไปเสียทีเดียว
ในปัญหาว่า การที่พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 นั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจในการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย คดีที่จำเลยนำยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ และมีผู้อื่นร้องขัดทรัพย์เช่นนี้ก็ถือว่าเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินจึงอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในคดีร้องขัดทรัพย์ต่อไปหรือไม่ยอมเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในอันที่จะใช้ดุลพินิจเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่กองทรัพย์สินของจำเลย เมื่อปรากฏว่าในการเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นไม่ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ดังกล่าว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทำความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชาโดยแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 407/2532 คำพิพากษาฎีกาที่ 1066/2520 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2268/2540 มาสนับสนุนว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 นั้น ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ว ผู้บังคับบัญชาทุกคนรวมทั้งรองอธิบดีกรมบังคับคดีซึ่งปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดีเห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าว เช่นนี้การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์มีคำสั่งไม่ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจไปโดยชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยอ้างว่าในการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 นั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้ก่อนนั้น เห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลย กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติในมาตรา 25 กรณีหาใช่เป็นการเริ่มต้นฟ้องคดีใหม่ หรือถอนฟ้องในคดีที่จำเลยได้ยื่นฟ้องไว้แล้วตามมาตรา 145 (4) แต่อย่างใด เช่นนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่ฎีกาพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่ต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้หรือกรรมการเจ้าหนี้แต่อย่างใด
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และพิพากษายืนให้ยกคำร้องของจำเลยตามศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share