คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1608/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาท ระบุว่า ผู้จะขายตกลงว่าจะพยายามดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดพร้อมจดทะเบียนอาคารชุดให้เสร็จภายในประมาณปีพ.ศ.2541 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทกับจำเลยโดยมุ่งหมายจะได้รับประโยชน์จากการใช้สอยห้องชุด โดยมั่นใจว่าโครงการจะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามที่ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขาย กำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของสัญญา จำเลยมีหนังสือชี้แจงความคืบหน้าโครงการอาคารชุด ลงวันที่ 18 มีนาคม 2542 ไปถึงโจทก์ ระบุชัดเจนว่าจำเลยคาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างห้องชุดให้แล้วเสร็จและแจ้งการรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ในไม่ช้านี้ แสดงว่าจำเลยก่อสร้างห้องชุดพิพาทไม่แล้วเสร็จในปี 2541 จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทได้
แผ่นพับโฆษณาของจำเลยระบุว่า สำนักงานขายของจำเลยอยู่เลขที่ 632/134 ถนนพระปิ่นเกล้า บางยี่ขัน บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้หนังสือนัดหมายโจทก์ตรวจรับห้องชุด และหนังสือชี้แจงความคืบหน้าก็ระบุว่าจำเลยมีที่อยู่ดังกล่าวเช่นกัน แสดงว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นสำนักงานสาขาของจำเลยจึงเป็นภูมิลำเนาในส่วนกิจการอันได้กระทำ ณ สถานที่นั้นด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 69 โจทก์ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาไปถึงจำเลย ณ สถานที่ดังกล่าว และจำเลยได้รับแล้ว การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
การที่สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ข้อ 11 กำหนดให้จำเลยคืนเงินที่โจทก์ชำระมาแล้วทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ซึ่งไม่ชัดแจ้งว่ามีอัตราเท่าใด จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 ที่ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดของโครงการรัตนโกสินทร์ ไอส์แลนด์กับจำเลย ต่อมาโจทก์ตรวจสอบอาคารและห้องชุดพบว่า การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด อีกทั้งวัสดุที่ใช้ก็ไม่เป็นไปตามแบบจำลองหรือตามที่โฆษณาไว้ โจทก์จึงไม่ยอมรับมอบและแจ้งให้จำเลยคืนเงิน แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 643,109.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 581,342 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า วัสดุที่ใช้เป็นไปตามแบบจำลองและคำโฆษณา จำเลยจึงมิใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระเงินตามเงื่อนไขและเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาจะซื้อจะขาย จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 581,342 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 14 กรกฎาคม 2543) ต้องไม่เกิน 61,767.59 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2537 โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดโครงการรัตนโกสินทร์ ไอส์แลนด์ จำนวน 1 ห้อง กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2541 ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด วันที่ 15 ธันวาคม 2541 จำเลยมีหนังสือแจ้งนัดหมายโจทก์ตรวจรับห้องชุด โจทก์ตรวจสอบห้องชุดในวันที่ 4 มกราคม 2542 ปรากฏว่าการก่อสร้างยังไม่เรียบร้อยและไม่เป็นไปตามสัญญา โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งจำเลยขอรับเงินคืน จำเลยมีหนังสือชี้แจงความคืบหน้าโครงการอาคารชุด ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2542 โจทก์ทำเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินคืนจากจำเลย วันที่ 23 สิงหาคม 2543 จำเลยมีหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แจ้งว่าจำเลยพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 22 กันยายน 2543 แต่ปรากฏว่าไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ต่อมาโจทก์ได้มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญา
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทหรือไม่ เห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทข้อ 11 ระบุว่า “ผู้จะขาย” ตกลงว่าจะพยายามดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดพร้อมจดทะเบียนอาคารชุดให้เสร็จภายในประมาณปี พ.ศ.2541 ในกรณีที่ผู้จะขายไม่สามารถจะดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จตามกำหนด เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุความล่าช้าที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้จะขายผู้จะขายยินยอมที่จะคืนเงินที่ผู้จะซื้อชำระมาแล้วทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ให้แก่ “ผู้จะซื้อ” โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทกับจำเลยโดยมุ่งหมายจะได้รับประโยชน์จากการใช้สอยห้องชุดพิพาท โดยมั่นใจว่าโครงการจะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามที่ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขาย กำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของสัญญา โจทก์เบิกความยืนยันว่า ในวันที่โจทก์ตรวจสอบห้องชุดพิพาทเพื่อรับมอบนั้น ห้องชุดพิพาทและอาคารยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ วัสดุอุปกรณ์ไม่เป็นไปตามแบบจำลองระบบสาธารณูปโภคยังไม่มีการติดตั้งเป็นการถาวร สอดคล้องกับคำเบิกความของนางสาวพรรณิกา นิติกรของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้ไปตรวจดูห้องชุดโครงการของจำเลย นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายสมวงศ์ ผู้จะซื้อห้องชุดโครงการเดียวกับโจทก์เบิกความสนับสนุนว่า ก่อนครบกำหนดตามสัญญาพยานได้ไปตรวจดูห้องชุดที่พยานจะซื้อ พบว่าจำเลยก่อสร้างห้องชุดยังไม่แล้วเสร็จ พยานจึงร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งให้พยานไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด พยาน ภริยาของพยาน โจทก์และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเดินทางไปตรวจดูห้องชุดโครงการของจำเลย พบว่าสภาพห้องชุดยังไม่เรียบร้อยเช่นเดิม จึงทำบันทึกไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อย และแจ้งความร้องทุกข์ไว้เป็นหลักฐาน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบสอดคล้องต้องกันสมเหตุผล จำเลยคงมีนายวสุ เป็นพยานเพียงปากเดียวเบิกความว่า จำเลยก่อสร้างห้องชุดพิพาทแล้วเสร็จตามสัญญา สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ได้ เห็นว่า นายวสุเบิกความรับว่า จำเลยมีหนังสือชี้แจงความคืบหน้าโครงการอาหารชุดฉบับลงวันที่ 18 มีนาคม 2542 ไปถึงโจทก์ เอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยคาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างห้องชุดให้แล้วเสร็จและแจ้งการรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ในไม่ช้านี้ แสดงว่าจำเลยก่อสร้างห้องชุดพิพาทไม่แล้วเสร็จภายในปี 2541 และในวันที่ 18 มีนาคม 2542 จำเลยยังไม่พร้อมที่จะแจ้งการรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทคำเบิกความของนายวสุจึงไม่มีน้ำหนัก ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยก่อสร้างห้องชุดพิพาทไม่แล้วเสร็จภายในปี 2541 จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทได้
ที่จำเลยฎีกาต่อมาว่า จำเลยมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่เลขที่ 33/35 อาคารวอลล์สตรีททาวน์เวอร์ ชั้น 9 ถนนสุรวงศ์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ไม่ใช่เลขที่ 632/134 ถนนพระปิ่นเกล้า แขวงบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ตามชื่อและที่อยู่ของผู้รับ การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แผ่นพับโฆษณาของจำเลยระบุว่า สำนักงานขายของจำเลยอยู่เลขที่ 632/134 ถนนพระปิ่นเกล้า บางยี่ขัน บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้หนังสือแจ้งนัดหมายโจทก์ตรวจรับห้องชุด และหนังสือชี้แจงความคืบหน้าโครงการอาคารชุด ก็ระบุว่าบริษัทจำเลยอยู่เลขที่ 632/134 ถนนพระปิ่นเกล้า บางยี่ขัน บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เช่นกัน แสดงว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นสำนักงานสาขาของจำเลย จึงเป็นภูมิลำเนาในส่วนกิจการอันได้กระทำ ณ สถานที่นั้นด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 69 นายวสุเบิกความรับว่าจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาที่โจทก์มีไปถึงจำเลยแล้ว การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม…” ความในวรรคสองบัญญัติว่า “ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกด้วยดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้” และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บัญญัติว่า “ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี” การที่สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ข้อ 11 กำหนดให้จำเลยคืนเงินที่โจทก์ชำระมาแล้วทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งไม่ชัดแจ้งว่ามีอัตราเท่าใด คดีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ที่ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share