แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานจนล่วงเลยกำหนดเวลาตามกฎหมาย หลังจากนั้นได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมรวม 2 ครั้ง โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2545 โดยเข้าใจว่า เป็นการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โจทก์รับสำเนาแล้วไม่คัดค้าน ศาลอนุญาตและรับบัญชีระบุพยานจำเลยที่ 1 จึงถือว่าเป็นกรณีที่ศาลอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นบัญชีระบุพยานเมื่อพ้นระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคหนึ่ง อันเป็นการใช้ดุลพินิจรับบัญชีระบุพยานจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสามแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่สองได้ แม้โจทก์จะคัดค้าน และการยื่นบัญชีระบุพยานของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แต่เมื่อคดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของหรือในฐานะผู้เช่า ดังนี้ บัญชีระบุพยานของจำเลยที่ 1 ที่อ้างพยานบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์ จึงนับว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับบัญชีระบุพยานจำเลยที่ 1 และอนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำพยานบุคคลตามบัญชีระบุพยานเข้าเบิกความ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เดิมนางพร เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 961 เลขที่ดิน 148 ตำบลโนนเพ็ด อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา ที่ดินพิพาท เมื่อประมาณปี 2517 นางพรขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวให้นายเคน บิดาโจทก์ แต่ไม่ได้จดทะเบียนการซื้อขายหลังจากนั้นนายเคนเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เมื่อนายเคนถึงแก่กรรม โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อจนถึงปัจจุบัน โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ครั้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2544 จำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและเข้าไปไถที่ดินปลูกต้นไม้ โจทก์ตรวจสอบจึงทราบว่านางพรได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริต เพราะจำเลยทั้งสองทราบอยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 961 เลขที่ดิน 148 ตำบลโนนเพ็ด อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ และพิพากษาว่าสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เป็นโมฆะ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 961 โดยนางพร มารดาจำเลยที่ 1 ยกให้ นางพรไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่นายเคน บิดาโจทก์ เพียงแต่ให้นายเคนเช่าทำกินโดยจ่ายค่าเช่าเป็นข้าวเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จ หลังจากนายเคนถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ต่อมาโจทก์ขอเช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 เพื่อทำกิน โดยตกลงจะจ่ายค่าเช่าเป็นข้าวเก็บเกี่ยวเสร็จ แต่โจทก์ผิดสัญญาไม่ยอมจ่ายค่าเช่าให้ จำเลยที่ 1 จึงแจ้งให้โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทแต่โจทก์กลับอ้างว่า นางพรขายที่ดินพิพาทให้แก่นายเคนแล้วในภายหลัง จำเลยที่ 1 มีความเดือดร้อนทางการเงินจึงนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า นางพร ไม่เคยขายไม่เคยส่งมอบและไม่เคยสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้นายเคน บิดาโจทก์ โจทก์และนายเคนเป็นเพียงผู้อาศัยทำกินในที่ดินดังกล่าวเท่านั้น ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 โดยนางพรเป็นผู้ยกให้ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 โดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาก่อนสืบพยานโจทก์ โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า แต่เดิมที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 961 ตำบลโนนเพ็ด อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นของนางพร มารดาจำเลยที่ 1 ต่อมานางพรกับจำเลยที่ 1 ย้ายไปอยู่จังหวัดอื่น หลังจากนั้นนายเคน บิดาโจทก์เข้าทำกินในที่ดินพิพาทจนนายเคนถึงแก่กรรมเมื่อปี 2532 ภายหลังโจทก์เข้าทำกินในที่ดินพิพาทจนมีเรื่องโต้แย้งกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนรับรองให้ที่ดินพิพาทจากนางพรเมื่อปี 2543 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่านายเคนซื้อที่ดินพิพาทมาจากนางพรตั้งแต่ปี 2517 โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นายเคนทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ต่อมานายเคนยกที่ดินให้แก่โจทก์ก่อนนายเคนถึงแก่กรรม โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา โจทก์จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เห็นว่า ที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งมีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่านายเคนซื้อที่ดินพิพาทมาจากนางพรจริง แต่พยานโจทก์คือตัวโจทก์ นางหอม นายท่ม และนางสงกา ต่างเบิกความได้ความเพียงว่า นายเคนเป็นผู้เข้าทำกินในที่ดินพิพาทหลังจากนางพรและจำเลยที่ 1 ย้ายจากที่ดินพิพาทไปอยู่จังหวัดอื่น เมื่อนายเคนถึงแก่กรรมแล้วโจทก์เป็นผู้เข้าทำกินในที่ดินพิพาทต่อมา ส่วนการซื้อขายที่ดินพิพาทนั้นพยานโจทก์ทั้งหมดต่างเพียงแต่รับทราบมาโดยไม่มีผู้ใดรู้เห็นเหตุการณ์ที่นายเคนตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทจากนางพร ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการตกลงซื้อขายกันในราคาเท่าไรและนายเคนประกอบอาชีพใด มีรายได้เพียงพอที่จะชำระราคาที่ดินพิพาทหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 1 นำสืบในข้อนี้ว่า หากมีการขายที่ดินพิพาทให้นายเคนแล้วจำเลยที่ 1 จะต้องเห็นเงินที่ชำระเป็นค่าที่ดินบ้าง แต่ไม่เคยเห็น เมื่อจำเลยที่ 1 สอบถามจากนางพรก็ได้ความว่า นางพรเคยตกลงขายที่ดินพิพาทจริงแต่นายเคนไม่มีเงินพอ จึงไม่มีการซื้อขายกัน นอกจากนี้แล้วเมื่อทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้แก่ที่ดินพิพาทในปี 2518 ก็ออกให้ในนามของนางพร ไม่ปรากฏว่านายเคนหรือโจทก์ได้ขวนขวายหรือติดต่อนางพรให้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเจ้าของที่ดินเป็นของนายเคนหรือโจทก์แต่อย่างใด สำหรับพยานจำเลยที่ 1 นำสืบว่า ก่อนที่นางพรจะย้ายครอบครัวไปอยู่จังหวัดอื่นได้ให้นางแด้เช่าทำกินในที่ดินพิพาทอยู่ก่อน ครั้นเมื่อย้ายไปแล้วนางพรกับจำเลยที่ 1 ให้นายเคนผู้เป็นน้องชายเช่าทำกินแทนต่อมา ทั้งนี้นางพรได้รับค่าเช่าเป็นส่วนแบ่งผลผลิตข้าวที่ทำนาได้ โดยจำเลยที่ 1 มีนางผาง น้องสาวของนางพรและนายเคนเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า ที่ดินพิพาทมีนางแด้กับนายเคนเป็นผู้เช่าทำกินจริง นางแด้กับนายเคนแบ่งข้าวที่ทำนาได้ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเก็บไว้ที่ยุ้งข้าวของนางผาง แล้วจำเลยที่ 1 จะมารับเอาไปในภายหลัง ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนี้ นายท่มกับนางสงกาพยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่านางพรกับจำเลยที่ 1 ให้นางแด้ทำกินในที่ดินพิพาทก่อน หลังจากนั้นนายเคนจึงเข้าทำกินในที่ดินพิพาทต่อมา อันเป็นการเบิกความเจือสมพยานจำเลยที่ 1 และเป็นข้อบ่งชี้ได้ประการหนึ่งว่านางพรกับจำเลยที่ 1 ได้ให้บุคคลอื่นรวมทั้งนายเคนทำกินในที่ดินพิพาทโดยตนเองได้รับผลประโยชน์เป็นส่วนแบ่งข้าวที่ทำนาได้จริง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า นายเคนบิดาโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนางพรมารดาจำเลยที่ 1 และครอบครองจนได้สิทธิครอบครองดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการสุดท้ายว่า ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นบัญชีระบุพยานเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาตามกฎหมายและให้จำเลยที่ 1 นำพยานบุคคลเข้าสืบเป็นการชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานจนล่วงเลยกำหนดเวลาตามกฎหมายหลังจากนั้นได้ยื่นคำแถลงขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมรวม 2 ครั้ง จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะไม่มีการยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกก่อน การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับบัญชีระบุพยานของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ ในปัญหาดังกล่าวข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อโจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ของจำเลยที่ 1 แล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2545 ว่า คดีนี้นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 24 มิถุนายน 2545 จำเลยที่ 1 ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2545 โดยเข้าใจว่าเป็นการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โจทก์รับสำเนาแล้วไม่คัดค้าน ศาลอนุญาตและรับบัญชีระบุพยานจำเลยที่ 1 จึงถือว่าเป็นกรณีที่ศาลอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นบัญชีระบุพยานเมื่อพ้นระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่ง อันเป็นการใช้ดุลพินิจรับบัญชีระบุพยานจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสามแล้ว จำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม (หมายถึงการระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2) ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสาม แม้โจทก์จะคัคค้านแต่เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรมจึงอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ เห็นว่า แม้การยื่นบัญชีระบุพยานของจำเลยที่ 1 จะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แต่เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ 1 แล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของหรือในฐานะผู้เช่า ดังนี้ บัญชีระบุพยานของจำเลยที่ 1 ที่อ้างพยานบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์ และจำเลยที่ 1 นำพยานบุคคลดังกล่าวเข้าเบิกความคือตัวจำเลยที่ 1 กับนางผาง ผู้รู้เห็นการเช่าที่ดินพิพาทและเป็นผู้เก็บรักษาส่วนแบ่งข้าวที่ทำนาได้ จึงนับว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับบัญชีระบุพยานจำเลยที่ 1 และอนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำพยานบุคคลดังกล่าวข้างต้นเข้าเบิกความจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ